ฟิลิปส์ ปล่อยแคมเปญ “ทุกลมหายใจคือชัยชนะ” กับ 5 ข้อควรรู้เมื่อคุณเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
เนื่องในวันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลกที่ผ่านมา (World COPD Day) รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ได้เปิดตัวแคมเปญ “ทุกลมหายใจคือชัยชนะ” เพื่อที่จะช่วยสร้างแรงบัลดาลใจให้กับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และคนในครอบครัวของผู้ป่วยโรคนี้ ว่าถึงแม้จะป่วย แต่พวกเขายังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกมากมายโดยที่เขาอาจไม่เคยรู้มาก่อน รวมทั้งการให้ความรู้วิธีการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและคนในครอบครัว
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคซีโอพีดี (COPD: Chronic Obstructive Pulmonary Disease) คือ โรคปอดชนิดเรื้อรังที่ผู้ป่วยจะมีพยาธิสภาพของถุงลมโป่งพอง และ/หรือ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เกิดร่วมกัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ เหนื่อย หอบ ไอและมีเสมหะ[1] ปัจจุบัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่มีความเสี่ยงถึงชีวิตสูง ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 251 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ภายในปี 2563[2] [3] ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีประชากรประมาณ 56.6 ล้านคนเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีระดับปานกลางถึงรุนแรง[4] สำหรับในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกว่า 1.5 ล้านคน และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ของโรคติดต่อไม่เรื้อรังในประเทศไทยอีกด้วย[5] โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ โดยพบผู้ป่วยมากถึง 5,000 กว่าล้านคน[6] ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่มีบทบาทบ้างแต่น้อยกว่าการสูบบุหรี่ ได้แก่ มลพิษทางอากาศและพันธุกรรม เป็นต้น
แม้จะพบผู้ป่วยโรคปอดอุดตันเรื้องรังเป็นจำนวนมาก แต่หลายๆ คนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลและรักษาผู้ป่วย ทำให้มีผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไรเมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงโรคปอดอุดกั้นเรื้องรังนี้ แม้จะเป็นโรคที่อันตราย แต่หากผู้ป่วยและคนใกล้ชิดรับรู้ถึงวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ก็จะสามารถทำให้พวกเขาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
ดร.ทีโอฟิโล ลี-ชิออง หัวหน้าด้านประสานงานการแพทย์ของฟิลิปส์ กล่าวว่า “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมักจะแสดงอาการกับผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน และถึงแม้ว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะเป็นภาวะเรื้อรังที่ยังไม่มีแนวทางการรักษาที่แน่ชัด แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยรับการรักษาที่บ้านผ่านระบบมอนิเตอร์จากระยะไกล ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือแนวทางการบำบัดจากที่บ้านได้ รวมถึงทีมแพทย์เองก็สามารถติดตามผลการรักษาและช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ โดยโซลูชั่นนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากโซลูชั่นทางการแพทย์ที่เข้ามาช่วยผู้ป่วยในการดำเนินชีวิตแล้ว การสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ”
5 ข้อควรรู้เมื่อคุณเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวัน ดังนี้
– คิดบวก ปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโรคของคุณ ว่าเราสามารถอยู่กับมันได้ และทำความเข้าใจกับกุญแจสำคัญในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล
– กำหนดเป้าหมายของตัวคุณเอง ถามตัวเองว่าคุณต้องการทำอะไร ตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวสำหรับตัวคุณเอง และพยายามทำให้สำเร็จ
– ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ ผู้ป่วยหลายๆ คนกลัวว่าการออกกำลังกายจะทำให้โรครุนแรงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนของระบบทางเดินลมหายใจให้ดีขึ้น การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย คือ ควรที่จะเริ่มจากการสร้างกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นและแข็งแรง และควรแบ่งการออกกำลังกายเป็นเซ็ต ๆ ละน้อย ๆ แล้วหยุดพัก ก่อนจะเริ่มออกกำลังกายเซ็ตใหม่
– รักษาวิถีชีวิตสุขภาพดี โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดีต่อสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมถึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
– มีความอดทน การรักษาโรคนี้อาจจำเป็นต้องใช้เวลา ผู้ป่วยจึงควรเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรค ในการค่อยเป็นค่อยไปด้วยการออกกำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แล้วคุณจะได้ความแข็งแรงกลับคืนมา
สำหรับแคมเปญ “ทุกลมหายใจคือชัยชนะ” เนื่องในวันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก (World COPD Day) นี้ ฟิลิปส์ได้โพสต์เรื่องราวจากชีวิตจริงของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจากทั่วโลก ที่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและเอาชนะโรคนี้มาได้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ให้สามารถก้าวผ่านและจัดการกับความท้าทายของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ นอกจากนี้ ฟิลิปส์ ยังได้นำเสนอโซลูชั่น ที่สามารถเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้นตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา การดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งขณะที่อยู่โรงพยาบาลและที่บ้าน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น