ส่องเทรนด์ 2019 ปีแห่ง Human-Machine Partnership

 

ปี 2018 ได้ปิดลงอย่างสมบูรณ์ ถึงเวลาที่เราต้องมองไกลไปข้างหน้าพร้อมคำนึงถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2019 อันเป็นช่วงที่เรากำลังเดินเข้าใกล้ทศวรรษหน้าแห่งนวัตกรรมที่จะนำพาเราไปยังปี 2030 ปีที่ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ได้คาดการณ์ถึงสิ่งที่จะได้รับจากการก้าวเข้าสู่ ยุคถัดไปของความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรกล

ยุคที่เราจะดื่มด่ำไปกับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น (smart living) การทำงานอย่างชาญฉลาด (intelligent work) ตลอดจนถึงระบบเศรษฐกิจที่ลื่นไหล

ในปีที่แล้ว เราได้คาดการณ์แนวโน้มบางอย่างไว้อย่างชัดเจน  ซึ่งการคาดการณ์บางส่วนสามารถเห็นผลได้เร็วกว่าอื่นๆ เล็กน้อย แต่ยังมีอีกหลายส่วน อาทิ เรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) แมชชีน เลิร์นนิ่ง ตลอดจนระบบอัตโนมัติ (autonomous systems) ที่ยังคงมีการพัฒนาให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์กรธุรกิจต่างลงมือสร้างโครงสร้างหลักดิจิทัล (digital backbone) เพื่อรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้นั่นเอง

แล้วอะไรคือแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วทั้งโลกในปี 2019 นี้? ต่อไปนี้คือการคาดการณ์หลักๆ ของเราสำหรับปี 2019 ปีที่ทั้งโลกก้าวสู่ระบบนิเวศดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

เราจะทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างดื่มด่ำสมจริงยิ่งกว่าที่เคย

สำหรับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในระดับโลก ผู้ช่วยเสมือนจริงยังคงมีให้เห็นกันแพร่หลายในเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค ทั้งเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม “ธิงค์ หรือสรรพสิ่งต่างๆ” ไปจนถึงยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต โดยอุปกรณ์ทั้งหมดเหล่านี้จะเรียนรู้ความชื่นชอบของคุณ เพื่อนำเสนอเนื้อหา และข้อมูลในเชิงรุกให้กับคุณโดยอิงตามการปฏิสัมพันธ์ที่มีมาก่อนหน้านั้น

และเรายังจะได้เห็นความฉลาดของเครื่องจักรผสานรวมเข้ากับระบบที่รวมสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับวัตถุเสมือน หรือ augmented reality (AR) และระบบจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง หรือ virtual reality (VR) ภายในบ้านเพื่อสร้างประสบการณ์ดื่มด่ำเสมือนจริง ประหนึ่งมีผู้ช่วยเชฟในโลกเสมือนที่จะคอยสร้างสรรค์อาหารมื้อง่ายๆ สำหรับครอบครัว และคุณเองก็สามารถที่จะเชื่อมต่อกับระบบดูแลสุขภาพส่วนตัวด้วยอุปกรณ์ติดตามสุขภาพที่ฉลาดล้ำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่สามารถจับข้อมูลเกี่ยวกับร่างกาย เช่นอัตราผันแปรของการเต้นของหัวใจ รูปแบบการนอน และอีกมากมาย เพื่อที่คุณสามารถจะแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้โรงพยาบาลต่างๆ ดูเพื่อการดูแลสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ความชาญฉลาดที่เสมือนจริงจะยังคงตามเราไปจนถึงที่ทำงานเช่นกัน ทั้งพีซี และอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ทุกวันจะเรียนรู้จากอุปลักษณะนิสัยของเราและเตรียมแอปฯ และบริการที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรียกใช้ได้ทันที  ความก้าวหน้าในการประมวลผลทางภาษา (Natural Language Processing)  และเทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียง (Voice Technologies) จะสร้างบทสนทนาเพื่อช่วยให้สื่อสารกับจักรกลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในขณะที่ระบบออโตเมชัน และระบบหุ่นยนต์จะสร้างความร่วมมือกับเทคโนโลยีเพื่อทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างลื่นไหลและรวดเร็วยิ่งขึ้น  และด้วยแอปพลิเคชันที่ให้การใช้งานเสมือนจริงทั้ง AR และ VR ช่วยสร้างประสบการณ์เสมือนจริงทั้งในและนอกสถานที่ เพียงแค่ผู้ใช้ต้องเข้าถึงข้อมูลที่จะต้องใช้ในการทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการ

เหมืองทองของข้อมูลจะจุดประกายให้เกิด “การตื่นทอง” ในการลงทุนด้านเทคโนโลยียุคถัดไป

หลายองค์กรเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้ามาเป็นเวลาหลายปี ในความเป็นจริง มีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2020 ข้อมูลจะมีปริมาณสูงถึง 44 ล้านล้านกิกะไบต์ หรือ 44 เซตตะไบต์  ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาล ในไม่ช้าองค์กรธุรกิจต่างๆก็จะเริ่มนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้ในที่สุดเมื่อการปฏิรูปสู่ดิจิทัลเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

และเมื่อสามารถสร้างคุณค่าจากข้อมูลได้มากขึ้น การมีมุมมองเชิงลึกก็จะช่วยขับเคลื่อนไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ และทำให้กระบวนการทางธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีการลงทุนในภาคเทคโนโลยีมากขึ้น องค์กรสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ใหญ่ขึ้น ในการทำให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นจริงขึ้นมาได้ ทั้งการบริหารจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลรวมซึ่งจะให้มุมมองเชิงลึกที่มาจากระบบเสมือน

5G จะช่วยให้เราใช้ชีวิตบนเอดจ์ได้ดีขึ้น

อุปกรณ์ชิ้นแรกๆ ที่รองรับ 5G จะออกสู่ตลาดช่วงปีหน้า มาพร้อมความสามารถในการรองรับเครือข่ายรุ่นถัดไป ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของเกมการแข่งขันด้านข้อมูลอย่างสิ้นเชิงทั้งในเรื่องของความเร็ว และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเครือข่ายที่ให้แบนด์วิดธ์สูง ความหน่วงต่ำ ช่วยให้เชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ และระบบงานต่างๆ นอกจากนี้ยังอัดแน่นไปด้วยปัญญาประดิษฐ์ แมชชีน เลิร์นนิ่ง และระบบประมวลผลสิ่งที่เกิดขึ้นที่ปลายทาง อันเป็นจุดที่ข้อมูลทั้งหลายถูกสร้างขึ้น

อีกไม่นานเกินรอ เราจะเริ่มเห็น ไมโคร-ฮับ (micro-hubs) เรียงรายอยู่ตามถนน หรือ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดเล็ก (mini datacenters) ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ๆ สำหรับการสร้างข้อมูลเชิงลึกในแบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ เมืองต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กจะสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้มากกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมระบบโครงสร้างดิจิทัลที่เราคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตและขยายตัวในปี 2030  ซึ่งนี่จะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าเกมการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ หรือเฮลธ์แคร์ หรืออุตสาหกรรมการผลิต ที่ทั้งดาต้าและข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นจะถูกประมวลผลและวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วในแบบเรียลไทม์ เมื่อเทียบกับการส่งข้อมูลข้ามผ่านคลาวด์ไปมา โดยรูปแบบนี้สามารถช่วยให้แชร์ข้อมูลกับผู้ที่ต้องการได้ในทันที

การคาดการณ์ด้านข้อมูลจะเรียกร้องการใช้งานคลาวด์ที่มากขึ้น

ปีที่ผ่านมา เราคาดการณ์ถึงการมาของเมกะ คลาวด์ (Mega Cloud) ซึ่งเป็นการนำคลาวด์หลากหลายรูปแบบมาทำงานงานร่วมกันเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินงานที่ทรงพลังเนื่องจากนโยบายด้านไอทีต้องการการทำงานของทั้งไพรเวท คลาวด์ และพับบลิค คลาวด์ร่วมกัน จนกระทั่งถึงตอนนี้ ประเด็นการโต้เถียงที่เปรียบเทียบพับบลิค คลาวด์ กับไพรเวท คลาวด์ เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

เนื่องจากองค์กรธุรกิจเข้าใจดีว่าพวกเขาจำเป็นต้องบริหารจัดการประเภทของข้อมูลทั้งหมดที่แตกต่างกันเพื่อการประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการสำรวจของไอดีซีชี้ให้เห็นว่า เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตอบการสำรวจ มีการส่งข้อมูลกลับมาที่ไพรเวท คลาวด์ซึ่งอยู่ในองค์กร และเราคาดว่าแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการเติบโตของพับบลิค คลาวด์ก็ตาม

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมแบบมัลติ-คลาวด์ ยังช่วยขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติ ตลอดจนการประมวลผลของทั้ง AI และ ML ด้วยความเร็วสูง เนื่องด้วยตัวเทคโนโลยีมอบความสามารถให้กับองค์กรธุรกิจในการจัดการ การเคลื่อนย้ายและการประมวลผลข้อมูลได้ทุกที่และทุกเวลาที่ต้องการ

ในความเป็นจริง เราจะเห็นคลาวด์เกิดขึ้นมากมาย เพราะข้อมูลมีการกระจายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น อาทิ ที่พื้นที่ปลายทางภายในสภาพแวดล้อมของยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือภายในโรงงานอัจฉริยะ (smart factories) ไปจนกระทั่งถึงในแอปฯ ที่อยู่บนคลาวด์ ในดาต้าเซ็นเตอร์ภายในองค์กร (on-prem) ที่ได้รับการปกป้อง เพื่อตอบโจทย์ด้านกฏระเบียบและมาตรฐานด้านความเป็นส่วนตัว และแน่นอน เหล่านี้ยังรวมถึงพับบลิค คลาวด์ สำหรับแอปฯ และบริการหลากหลายที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้

และจากผลการสำรวจ ดัชนีการปฏิรูปสู่ดิจิทัลของเดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies Digital Transformation Index (DT Index) สำหรับประเทศไทย มีการระบุอย่างชัดเจนว่า 63 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลงทุนเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานในแบบมัลติ-คลาวด์ ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างขุมพลังและเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรในการปฏิรูปรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business transformation) อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้ามผ่านยุคมิลเลนเนียลไป กลุ่มคนเจนแซด (Gen Z) จะตบเท้าสู่การทำงาน

ชาวมิลเลนเนียลกำลังเตรียมที่ทางให้กับคนรุ่นถัดไป คือกลุ่มคน Gen Z (คนที่เกิดหลังปี 1995) ซึ่งจะก้าวสู่การทำงานภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้มีคนทำงานที่แตกต่างกันถึง 5 รุ่นด้วยกัน! ซึ่งนี่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ในการใช้ชีวิต และการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันอย่างมาก

98 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคน Gen Z จะได้ใช้เทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอย่างเป็นทางการ

หลายคนเข้าใจพื้นฐานของการเขียนโค้ดซอฟต์แวร์อยู่แล้ว พร้อมกับคาดหวังว่าจะได้ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเท่านั้นในการสร้างประสบการณ์การทำงานของตน

ชาว Gen Z จะจุดประกายวิวัฒนาการใหม่ให้กับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน พร้อมกับสร้างโอกาสมากขึ้น ในเรื่องความสามารถด้านเทคโนโลยี และการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะใหม่ๆ ในที่ทำงานจากคนทำงานที่สูงวัยกว่า โดยเทคโนโลยี AR และ VR จะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น และช่วยปิดช่องว่างของทักษะที่ต่างกันระหว่างคนทำงานต่างรุ่น ในขณะที่ช่วยให้ชาวเจนแซด ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลในเวลารวดเร็วตามที่ต้องการ

ผลการสำรวจ Gen Z Research โดย เดลล์ เทคโนโลยีส์ ระบุว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ของชาว Gen Z ในประเทศไทย ต้องการที่จะทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด

โดยมากกว่า 4 ใน 10 ให้ความสนใจในการทำงานด้านไอที ที่รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ ที่สำคัญ 64 เปอร์เซ็นต์ของบรรดาผู้เข้าร่วมการสำรวจเชื่อว่ามนุษย์และเครื่องจักรจะทำงานร่วมกันเสมือนเป็นทีมเดียวกัน (Human-Machine Partnership) ในอนาคตอันใกล้

ไม่มีจุดอ่อน หรือสิ่งที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะซัพพลายเชนจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ฉลาดขึ้น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในระดับโลก องค์กรที่เชื่อในเรื่องของข้อได้เปรียบมากมายจากการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน อาจดำเนินรอยตามแนวทางของเรา และเริ่มเร่งออกแบบโมเดลธุรกิจที่ไม่ปล่อยของเสียทิ้งไป ด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ด้านรีไซเคิล พร้อมวิธีปฏิบัติในแบบ closed loop มาใช้ ซึ่งในเรื่องนี้ เดลล์ ได้แชร์ต้นแบบในการเปลี่ยนพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์แบบรีไซเคิล และเปลี่ยนเขม่าจากไอเสียของน้ำมันดีเซล ให้กลายเป็นหมึกสำหรับการพิมพ์บนกล่อง

เราจะมองเห็นความก้าวหน้าด้านซัพพลายเชนที่สามารถติดตามผลได้ ด้วยการวิเคราะห์ และควบคุมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อระบุโอกาสที่แม่นยำในการแก้ไขสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง  บล็อกเชนจะมีบทบาทสำคัญเช่นกันในการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการจัดหาสินค้าหรือบริการ พร้อมกับรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและการบริการควบคู่กันไป

ไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้วในเรื่องของเทคโนโลยี ด้วยนวัตกรรมในยุค 5G ปัญญาประดิษฐ์ และแมชชีน เลิร์นนิ่ง คลาวด์ รวมถึงบล็อกเชนที่เดินหน้าอย่างเต็มสูบ ผมขอเดิมพันว่าเราจะนำข้อมูลจำนวน 44 เซ็ตตะไบต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ในปี 2020 เราจะปลดล็อคขุมพลังของข้อมูลในแบบที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ เพื่อปฏิรูปการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตในทุกวัน ฉะนั้นจงเตรียมพร้อมให้ดี เพราะเรากำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลังเข้าสู่ยุคของข้อมูล และปี 2019 จะเป็นอีกปีที่น่าสนุก

*โดย อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน

 

AIARartificial intelligenceDellHumanMachineVRเดลล์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
Comments (0)
Add Comment