เอสซีจีแถลงผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ประกาศเดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเน้นธุรกิจแพคเกจจิ้งครบวงจร และการค้าปลีกของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 112,379 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามความต้องการในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง ขณะที่มีกำไร 11,662 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 46,240 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ แต่ลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 48,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของตลาดซีเมนต์ในประเทศ โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 95 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 21,127 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายที่ลดลงในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารต้นทุนของธุรกิจ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการซ่อมบำรุง รวมถึงการดำเนินโครงการลดต้นทุนต่าง ๆ
โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 45,464 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของยอดขายรวม ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 1,439 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของยอดขายรวม
สำหรับผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียนเท่ากับ 26,784 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 จากยอดขายรวม โดยลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 16,966 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 จากยอดขายรวม
เปิดแผน ปี 62 เร่งสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจียังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมตอบรับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่มุ่งสู่การเป็น Total Packaging Solutions Provider หรือคู่คิดด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ด้วยการเดินหน้าขยายฐานการผลิตในอาเซียน โดยเฉพาะในตลาดที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า บริการ และกระบวนการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและการใช้งานของผู้บริโภค
ตลอดจนการเดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามแนวทางของเอสซีจี หรือ SCG Circular Way เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปรีไซเคิลได้ง่าย หรือใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยลง แต่ยังคงคุณสมบัติที่ดีของบรรจุภัณฑ์
ด้านธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจีได้จับมือกับคู่ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับธุรกิจค้าปลีกที่กำลังเติบโต ให้เครือข่ายผู้แทนจำหน่ายในรูปแบบแฟรนไชส์ เช่น SCG Home บุญถาวร และ SCG HOME SOLUTION สามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้านและช่างได้อย่างครบวงจร พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าและคำนวณราคาผ่านช่องทางออนไลน์ได้กว่า 10,000 รายการ ทำให้ยอดขายเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะพัฒนาไปสู่การเชื่อมต่อข้อมูลทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่าน “SCG HOME” ที่ลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูล หรือเลือกซื้อสินค้าและบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีสินค้าและบริการเรื่องบ้านครบวงจร เพื่อเติมเต็มความต้องการของทุกคนในครอบครัว
นอกจากนี้ เอสซีจียังพัฒนาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ หรือเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรเพื่อให้บริการลูกค้าในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร และการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ให้ตอบโจทย์ตลาดทั้งอาเซียนและจีนตอนใต้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ ที่นอกจากจะมีโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ในเวียดนามที่ดำเนินการได้ตามแผน ยังมีการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products & Services – HVA) ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและอุตสาหกรรม เช่น การร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค ยกระดับมาตรฐานการส่งน้ำประปาผ่านท่อขนาดใหญ่ลอดใต้ทะเลสู่เกาะสมุยเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค โดยใช้ท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PE112 ซึ่งเป็นนวัตกรรมชั้นนำของโลกที่คิดค้นโดยเอสซีจี ทำให้ท่อมีคุณสมบัติทนแรงดันได้สูงสุด
นอกจากนี้ ยังเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ร่วมกับ ซีพี ออลล์ และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการนำขยะพลาสติกจากสำนักงาน ศูนย์กระจายสินค้า และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มาผสมกับยางมะตอย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพถนนในพื้นที่บริเวณหน้าร้าน
อย่างไรก็ตาม เอสซีจียังผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การนำ Blockchain Corda R3 มาใช้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-ชำระเงิน (Procure-to-Pay) กับคู่ค้าอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะในธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยสามารถช่วยลดต้นทุนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-ชำระเงิน ได้ถึงร้อยละ 70 อีกทั้งเอสซีจียังมีแผนที่จะพัฒนา Blockchain เพื่อนำไปใช้กับงานด้านอื่น ๆ ต่อไป เช่น การอำนวยความสะดวกให้คู่ธุรกิจในการซื้อสินค้าจากเอสซีจีด้วย