SCG เดินหน้าพลิกโฉมองค์กร ติดปีกสตาร์ทอัพสร้างการเติบโต

เอสซีจี แถลงกลยุทธ์ ปี 2562-2563 มุ่งเพิ่มขีดความสามารถองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้ดีและเร็วขึ้น ผ่านการเปิดรับนวัตกรรมภายนอก โดยบริษัทร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ “AddVentures by SCG” การพัฒนาสตาร์ทอัพในองค์กร โดยสตาร์ทอัพสตูดิโอ “ZERO TO ONE by SCG” เสริมขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ดร.จาชชัว แพส SCG Corporate Innovation Director และ Managing Director of AddVentures by SCG กล่าวว่า ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีรวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เอสซีจีจึงต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่ นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) ซึ่งดำเนินการมาโดยตลอด ด้วยการทำ Digital Transformation ซึ่งเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) โดยเน้นการพัฒนาและสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งมีศักยภาพในการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้เอสซีจีสามารถสร้างโซลูชั่นสินค้าและบริการให้ลูกค้าทุกกลุ่ม ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้องค์กรได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น”

เนื่องจากการพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานรวมถึงแนวคิดของคนในองค์กรเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เอสซีจีจึงเริ่มนำแนวคิดและวิธีการทำงานของสตาร์ทอัพมาปรับใช้ ด้วยการทำโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพภายใน “HATCH-WALK-FLY” โดยมี ZERO TO ONE by SCG” ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสตูดิโอ (Startup Studio) ที่เน้นการสร้างธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัพขึ้นมาจากไอเดียใหม่ๆ เป็นผู้พัฒนาสตาร์ทอัพตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Early stage) และแบ่งระยะของการผลักดันสตาร์ทอัพอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระยะฟักไข่ (HATCH) ที่เน้นการเริ่มทำความเข้าใจลูกค้า ค้นหาปัญหา และทดสอบความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหานั้น ระยะเดิน (WALK) ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ พร้อมทั้งทดสอบตลาดและโมเดลธุรกิจ และระยะบิน (FLY) ที่เน้นการขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแบบฉบับของธุรกิจสตาร์ทอัพ

นอกจากการสนับสนุนเรื่องเงินทุนแล้ว ทางสตูดิโอยังได้เติมเต็มส่วนอื่นๆ เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถสร้างธุรกิจได้เร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมความรู้ กระบวนการทำงาน รวมถึงแนวทางการวัดผลที่เหมาะสมขึ้นเป็น playbook เพื่อปรับใช้กับสตาร์ทอัพในระยะต่างๆ การจัด mentoring session เพื่อให้คำแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์โดยบุคลากรผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งจากเอสซีจีและเจ้าของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ

อีกทั้งยังให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน และการดำเนินการทางบัญชีและกฎหมาย เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสตาร์ทอัพซึ่งเป็นพนักงานเอสซีจีผ่านเข้าร่วมโครงการ “HATCH-WALK-FLY” แล้วมากกว่า 50 ทีม ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะ WALK 7 ทีม และสตาร์ทอัพในระยะ FLY 4 ทีม โดยหลังจากนี้จะเริ่มขยายฐานลูกค้าและสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้มากขึ้นต่อไป”

นอกจากนี้ เพื่อให้การทำ Digital Transformation เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น เอสซีจีจึงให้ความสำคัญกับการเปิดรับนวัตกรรมจากภายนอก (Open Innovation) โดยมี “AddVentures by SCG” ซึ่งเป็น Corporate Venture Capital หรือ CVC เข้าไปเสริมศักยภาพและร่วมลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพ ทั้งในไทยและภูมิภาคที่โดดเด่นอื่นๆ เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะ

 

ดร.จาชชัว กล่าวว่า AddVentures by SCG มีความคืบหน้าในการร่วมมือกับสตาร์ทอัพตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น                       1.) การลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Fund of Fund) และการลงทุนตรงในสตาร์ทอัพ (Direct Investment)          ที่มีแนวทางสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของเอสซีจีไปทั้งสิ้น 13 ราย แบ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุน 2 ราย และการลงทุนตรงในสตาร์ทอัพ 11 ราย

2.) การสร้างความร่วมมือแบบธุรกิจร่วมทุน (Joint venture partnership) กับสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเติบโต (Growth stage) เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้เอสซีจี โดยนำเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมาใช้ในไทย หรือต่อยอดไปใช้ในภูมิภาคอื่นด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและทดลองตลาดกับสตาร์ทอัพทั้งสิ้น 6 ราย

และ 3.) การสร้างความร่วมมือในฐานะคู่ค้า (Commercial partnership) กับสตาร์ทอัพ โดยนำผลิตภัณฑ์หรือบริการมาใช้กับธุรกิจต่างๆ ของเอสซีจีแล้วกว่า 100 ราย

สำหรับกลยุทธ์และทิศทางการพัฒนาต่อไปในปี 2562 – 2563 ของ AddVentures by SCG นั้น ดร.จาชชัว กล่าวว่า หนึ่งปีต่อจากนี้จะรุกสร้างเครือข่ายกับสตาร์ทอัพทั่วโลก ทั้งการลงทุนผ่านกองทุนและสตาร์ทอัพในภูมิภาคใหม่ๆ เช่น จีน อิสราเอล สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะของตลาดที่น่าสนใจต่างกันไป ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะเน้นการลงทุนที่อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมุ่งขยายการเติบโตไปในภูมิภาคอื่นๆ ให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ด้วยเครือข่ายและความเชี่ยวชาญของเอสซีจี พร้อมหวังสร้างธุรกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ให้เอสซีจีมากขึ้น โดยภายในปี 2562 นี้ คาดว่าจะมีการลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มอีกประมาณ 4-6 ราย

ส่วนการสร้างความร่วมมือแบบธุรกิจร่วมทุน จะยังทำอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับ ZERO TO ONE by SCG เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของตลาด (Market validation) และปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ (Localization) โดยภายในปี 2562 นี้ คาดว่าจะสามารถสร้างธุรกิจใหม่จากสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 4-6 ราย

ด้านการสร้างความร่วมมือในฐานะคู่ค้า จะปรับรูปแบบการทำงานให้เป็นระบบและคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งยังเดินหน้าค้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพผ่านเครือข่ายที่มีทั่วโลก เพื่อผลักดันโครงการสำคัญๆ ที่จะช่วยให้เอสซีจีได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคตให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้ประมาณ 10 โครงการ

ขณะที่กลยุทธ์และทิศทางต่อไปของ ZERO TO ONE by SCG นั้น นอกจากความมุ่งมั่นในการช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพที่ AddVentures by SCG มีอยู่ใน Portfolio ให้ดีขึ้นแล้ว ยังมีแผนที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพภายในองค์กรให้ดีและเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงมองหาโอกาสในการสร้างสตาร์ทอัพ ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่สนใจจะพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Venture Builder Program) นอกจากนี้ ยังจะนำความรู้และประสบการณ์จากการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ผ่านมา กลับไปช่วยสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจหลักและภาพรวมของเอสซีจีได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการสนับสนุนการสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพสตูดิโอในหน่วยธุรกิจย่อยด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้บุคลากรภายในองค์กรเป็นสิ่งที่เอสซีจีให้ความสำคัญเช่นกัน เพื่อให้การทำ Digital Transformation ประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น ทั้งการใช้ Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค รวมทั้งการประยุกต์ใช้ AI (Artificial Intelligence), ML (Machine Learning), AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) และ Blockchain เพื่อให้กระบวนการทำงานและบริการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น