หลอดเลือดดำอุดตัน ภัยเงียบฆ่าประชากร 1 ใน 4 ของโลก

จากสถิติทั่วโลกพบว่า ประชากรจำนวน 1 ใน 4 ของโลกเสียชีวิตจากปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (VTE) รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ส่งผลถึงชีวิต ความเสี่ยงของภาวะดังกล่าวสามารถเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน แต่สาเหตุหลักของโรคเกิดนี้กลับเกิดขึ้นในโรงพยาบาล

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน คือภาวะที่ลิ่มเลือดขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดง หรือหลอดเลือดดำในร่างกาย  โดยลิ่มเลือดอาจหลุดจากผนังหลอดเลือดแล้วลอยไปตามกระแสเลือดสู่ปอดนำไปสู่โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (PE) โดยทั่วไปภาวะลิ่มเลือดอุดตันเป็นภาวะที่สามารถป้องกันได้ แต่มักจะถูกพบหลังจากเกิดกระบวนการทางการแพทย์แล้ว เช่น การผ่าตัดใหญ่

โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (VTE) คือ ปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่อันตรายถึงชีวิต โดยประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปมีผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคหลอดเลือดดำอุดตันมากกว่า 10 ล้านกรณีในแต่ละปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม เอชไอวี และอุบัติเหตุทางรถยนตร์รวมกัน

การนอนติดเตียงหลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ถือเป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดดำอุดตันที่รู้จักกันในชื่อ ‘hospital-associated clots’ (HAT) ซึ่งมากกว่า 60% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดดำอุดตันเกิดโรคดังกล่าวในช่วงของการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่าในประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ มีจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้พิการจากโรคหลอดเลือดดำที่เกิดในโรงพยาบาลมากกว่าภาวะแทรกซ้อนหรืออุบัติเหตุในโรงพยาบาลอื่น ๆ อาทิ อาการปอดบวมในโรงพยาบาล การติดเชื้อในกระแสโลหิตจากการใส่สายสวนหลอดเลือดดำ หรือความคลาดเคลื่อนทางยา

โดยทั่วไปความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลกระทบมาจากการเคลื่อนไหวที่ลดลงเนื่องจากผู้ป่วยต้องนอนติดเตียงในช่วงรักษาตัว การเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดลงก่อให้เกิดการจับตัวของเลือดซึ่งทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติความเจ็บป่วยเกี่ยวกับเส้นเลือดซึ่งอาจมาจากการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตันสูงขึ้น

ผู้ป่วยโรคมะเร็ง คืออีกกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องมากจากการการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล การรักษาโรคมะเร็ง (การให้เคมีบำบัดบางประเภท) การผ่าตัดที่เกี่ยวโยงกับหลอดเลือด การเคลื่อนไหวที่น้อยลง และการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับหลอดเลือด อีกทั้งเซลล์มะเร็งยังมีส่วนทำให้เลือดข้นมากขึ้นซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด

นายแพทย์ ชาตรี ชัยอดิศักดิ์โสภา อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงโรคนี้ โดยเมื่อปีที่แล้ว เราพบว่ามีเพียง 26 เปอร์เซนต์ของคนไทยที่ตระหนักถึงภาวะเส้นเลือดตีบลึก (DVT) และมีเพียง 30 เปอร์เซนต์ที่รู้เกี่ยวกับโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เราหวังที่จะเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยการให้ความรู้แก่บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และบุคคลทั่วไป จะช่วยให้เราสามารถสังเกตโรคดังกล่าวได้ง่ายขึ้นและนำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ท้ายที่สุดเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายระดับโลกของสมัชชาองค์การอนามัยโลกในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 25% ภายในปี 2568”

 

อาการของภาวะเส้นเลือดตีบลึก (DVT)  ที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ อาการเจ็บบริเวณน่องและต้นขา อาการขาบวม ผื่นแดง สีผิวที่เปลี่ยนไป ส่วนโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ผู้ป่วยโดยทั่วไปจะมีอาการ หายใจสั้น หายใจเร็ว การเจ็บปวดบริเวณหน้าอก (ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจลึก) หัวใจเต้นเร็ว อาการมึนหัว และเป็นลม

ในการป้องกันโรคหลอดเลือดดำอุดตันในผู้ป่วยติดเตียง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โรงพยาบาลทั่วโลกควรมีระเบียบปฏิบัติที่เคร่งครัดในการป้องกันโรคดังกล่าว โดยระเบียบปฏิบัติอาจแตกต่างไปตามสถานพยาบาลในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่ทุกสถานพยาบาลพึงมีคือการระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงแนวทางในการป้องกันและการรักษาที่เหมาะสม เช่น การใช้เครื่องมืออัดอากาศเป็นระยะ (intermittent pneumatic compression) หรือ การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น