ภาครัฐ-เอสซีจี-พันธมิตรธุรกิจ-ชุมชน เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมจัดการขยะ
จากความต้องการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายภาคส่วนหันมาหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุด หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุดจึงถูกพูดถึงและนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
ด้วยการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมจากการใช้ทรัพยากรแบบผลิต-ใช้-ทิ้ง (Take-Make-Dispose) เป็นผลิต-ใช้-วนกลับ (Make-Use-Return) “เอสซีจี” หนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ส่งเสริมแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” สู่การปฏิบัติจริง และผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อต่อยอดและขยายแนวคิดนี้ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
บางซื่อโมเดล–จากนโยบายสู่การปฏิบัติ
เอสซีจีได้แปลงหลัก Circular Economy จากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยเริ่มจากโครงการ “บางซื่อโมเดล” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติ “SCG Circular way” ที่มุ่งจัดการของเสียภายในสำนักงานใหญ่บางซื่อ เพื่อสร้างความตระหนักให้พนักงานเห็นคุณค่าของทรัพยากร เป็นต้นแบบที่ดีด้านบริหารจัดการของเสีย ปลูกฝังหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพนักงานผ่านเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ตลอดจนส่งต่อแนวคิดการบริหารจัดการขยะสู่ชุมชนภายนอกด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “KoomKah” (คุ้มค่า) เพื่อช่วยบริหารจัดการรวบรวมและคัดแยกขยะจากชุมชน ทำให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะทำงานได้สะดวกมากขึ้น
บ้านรางพลับ–ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
หลังจากนั้น เอสซีจีได้ขยายผลโครงการนำร่องไปยังชุมชนขนาดเล็กที่หมู่บ้านรางพลับ จ.ราชบุรี ด้วยการเข้าไปพูดคุยกับชุมชนเพื่อสอบถามถึงปัญหาขยะ ก่อนแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะเปลี่ยนขยะเป็นความมั่งคั่ง (จาก Waste สู่ Wealth) โดยมุ่งให้ชุมชนจัดการได้ด้วยตนเองและมีส่วนร่วมในโครงการ
ชุมชนนี้แสดงให้เห็นความตั้งใจและมีความเป็นผู้นำที่จะจัดการขยะ จึงเริ่มโครงการด้วยการจัดหากลุ่มผู้นำในชุมชนก่อน และเมื่อชุมชนวางกฎระเบียบของตัวเองร่วมกันจึงได้เริ่มแยกขยะ ทำให้พบว่า ขยะอินทรีย์หรือขยะอาหารเป็นส่วนที่กำจัดยากที่สุด เอสซีจีจึงเข้าไปช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์ (Organic Waste) ด้วยการใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ที่ชุมชนสามารถนำหญ้าหรือขยะอินทรีย์มาใส่แล้วนำไปทำปุ๋ย การริเริ่มเหล่านี้ทำให้ขยะอาหารกลายเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยที่ใช้ในชุมชน ส่วนที่เหลือก็ขายให้ชุมชนข้างเคียง นอกจากนี้ ชุมชนยังได้ริเริ่มพัฒนาและสร้างมูลค่าของเสียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ Zero Waste to Landfill Community”
จับมือภาครัฐพัฒนาต้นแบบทุ่นกักเก็บขยะ
สำหรับโครงการนำร่องที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอสซีจีได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พัฒนา “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ” (SCG – DMCR Litter Trap) โดยออกแบบทุ่นลอยน้ำให้มีกลไกฝาเปิด-ปิด ที่ช่วยกักเก็บขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัมต่อตัว นำร่องติดตั้ง 24 จุด ใน 13 จังหวัด และพัฒนา “ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บขยะลอยน้ำ 4.0” (SCG Smart Litter Trap 4.0) โดยมีการนำระบบ ML (Machine Learning) และ IoT (Internet of Things) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะในแม่น้ำโดยระบบอัตโนมัติ มีระบบเพื่อช่วยบำบัดน้ำ ประหยัดพลังงานด้วยการใช้แรงขับเคลื่อนพลังงานแสงอาทิตย์ เก็บขยะได้สูงสุด 5 กิโลกรัมต่อหนึ่งรอบการเก็บ
เปลี่ยนเศษท่อเป็นบ้านปลา แปลงคอนกรีตเป็นปะการังเทียม
นอกจากนี้ ยังร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้าน จัดทำโครงการ “บ้านปลาเอสซีจี” ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ใต้ท้องทะเล โดยใช้เศษท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนเกรดพิเศษ หรือ PE 100 จากกระบวนการทดสอบขึ้นรูปมาใช้สร้างบ้านปลา ถึงปัจจุบันวางบ้านปลาเอสซีจีไปแล้วจำนวน 2,090 หลัง ครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคตะวันออก และในภาคใต้ที่ จ.ระนอง คิดเป็น 41 กลุ่มประมงพื้นบ้าน เกิดพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลกว่า 47 ตารางกิโลเมตร เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด และสร้างเครือข่ายจิตอาสากว่า 22,480 คน ทั่วประเทศ รวมถึงการออกแบบ “ปะการังเทียม” โดยนำเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นรูปปูนซีเมนต์ 3 มิติในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาประยุกต์ออกแบบโดยจำลองกลไกของปะการังตามธรรมชาติ โดยใช้วัสดุหินปูนธรรมชาติร่วมกับวัสดุรีไซเคิล อย่างเศษคอนกรีตจากการทุบ รื้อ อาคารสิ่งก่อสร้าง
จากขยะสู่ถนนลดต้นทุนเพิ่มความแข็งแรง
พร้อมกันนี้ เอสซีจีได้นำเสนออีกนวัตกรรม “ถนนพลาสติกรีไซเคิล” (Recycled Plastic Road) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย โดยนำพลาสติกใช้แล้วมาบดย่อยให้มีขนาดเล็ก ผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ปูถนน นอกจากจะเพิ่มคุณค่าให้แก่ขยะพลาสติก แล้วยังเพิ่มประสิทธิภาพให้กับถนนยางมะตอย มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 – 33 ส่วนการบริหารจัดการขยะจากเศษคอนกรีต เอสซีจี ร่วมกับ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในโครงการ “ถนนคอนกรีตรีไซเคิล” (Recycled Concrete Aggregates For Road) นำเศษคอนกรีตรีไซเคิล 100% เช่น ก้อนปูน แผ่นพื้น หัวเสาเข็ม มาใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติ เพื่อเทเป็นถนนคอนกรีตในโครงการ สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะในแต่ละโครงการถึง 7 ล้านบาท ลดการใช้หิน ทราย ได้ถึง 100 ตัน สำหรับพื้นที่ 150 ตร.ม. และลดการทิ้งวัสดุจนเกิดมลภาวะ
นวัตกรรม Green Meeting สู่การประชุม ASEAN Summit
นอกจากนั้น นวัตกรรม “Green Meeting” หรือการจัดประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่เอสซีจีแปลงไปสู่การปฏิบัติด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลในการจัดประชุมผู้นำอาเซียน เช่น นิทรรศการจากกระดาษรีไซเคิล ฉากหลังสำหรับถ่ายภาพ เก้าอี้กระดาษ แท่นบรรยาย กล่องกระดาษสำหรับรับคืนป้ายชื่อคล้องคอ สมุดโน้ตจากกระดาษรีไซเคิล 100% บรรจุภัณฑ์อาหาร Fest หลอดกระดาษ ขวดน้ำพับได้ Fill Fest และถังขยะแยกประเภท รวมถึงกระเป๋าถุงปูน และตะกร้าสานจากเส้นเทปกระดาษที่นำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของเอสซีจีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งล้วนมาจากความมุ่งมั่นของเอสซีจีที่ต้องการใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด โดยใช้นวัตกรรมการผลิตให้สามารถนำกระดาษที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ และเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลที่สูงขึ้น แต่ยังคงคุณภาพของกระดาษให้แข็งแรง เพื่อให้สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้ารูปแบบต่างๆ ได้
เอสซีจี เชื่อว่า ความร่วมมือกันตั้งแต่การสร้างความรู้-ความเข้าใจของผู้บริโภค ตลอดจนความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการขยะของประเทศ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการรีไซเคิลขยะให้มีมูลค่าเพิ่ม คือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะช่วยผลักดันให้เรื่องการบริหารจัดการขยะ (Waste Management) ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยขับเคลื่อนอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) ต่อไป