“ทุกวิกฤตมีโอกาส” เอสซีจี ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนระยอง เพิ่มรายได้ให้ชุมชนยามวิกฤต

เมื่อทุกพื้นที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) นอกเหนือจากการดูแลป้องกันตนเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัยภายใต้วิถี Social Distancing  แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแบบตีควบกันมาก็คือ โอกาสในการหาวิธีสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนในยามวิกฤตเช่นนี้

ในพื้นที่ระยอง มีวิสาหกิจชุมชนที่เชี่ยวชาญด้านการตัดเย็บอยู่หลายแห่ง ปกติจะตัดเย็บกระเป๋าบ้าง เสื้อผ้าบ้างเพื่อนำไปจำหน่ายตามห้างร้าน หรือในตลาดนัดของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กิจกรรมทุกอย่างถูกระงับ และต้องช่วยกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทีม CSR ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาตลอดจึงระดมสมองหาหนทางช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในยามวิกฤตนี้ และด้วยความคิดที่ว่า ทุกวิกฤตมีโอกาสดีๆ อยู่เสมอ จึงนำมาสู่ปฏิบัติการพิเศษจากเอสซีจี นั่นคือ โครงการ หน้ากากผ้าเพื่อชุมชนด้วยฝีมือชุมชน โดยทีมงานของเอสซีจีได้สร้างเครือข่ายผลิตหน้ากากผ้าป้องกันโควิด-19 ขึ้น และช่วยชุมชนหาแหล่งซื้ออุปกรณ์ในราคายุติธรรมไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้ายมัสลิน ยางยืด หรือแม้แต่ซองพลาสติกสำหรับใส่หน้ากาก”  น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เล่าที่มาของโครงการ

ระดมพันธมิตรร่วมปฏิบัติการพิเศษ … สร้างเครือข่ายการตัดเย็บหน้ากากผ้า

ในช่วงเวลาที่หน้ากากอนามัยหาได้ยากยิ่งกว่าทองคำ หน้ากากผ้า จึงเป็นทางออกที่เหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้รับความรู้และข้อแนะนำเรื่องหน้ากากผ้าจากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมาบตาพุด ซึ่งหน้ากากผ้าเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ป่วย สามารถซักและใช้ซ้ำได้ นอกจากนี้ ยังได้รับแบบการตัดเย็บจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้มั่นใจว่าหน้ากากผ้าที่ตั้งใจทำขึ้นในครั้งนี้ จะช่วยปกป้องชุมชนจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เมื่อแบบพร้อม ขั้นตอนต่อไปคือ การหาช่างตัดเย็บ ซึ่งเป็นเรื่องถนัดของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มตัดเย็บอยู่แล้ว เอสซีจีจึงสร้างเครือข่ายการตัดเย็บหน้ากากผ้าโดยมีวิสาหกิจชุมชนในเขตมาบตาพุด และบ้านฉาง เป็นแกนนำ สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเปิดสอนการตัดเย็บหน้ากากผ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างงานให้กับวิสาหกิจชุมชนแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ให้กับอีกหลายครอบครัวที่หยุดอยู่บ้านและขาดรายได้ ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้ มีบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ หรือ บีเอสที เป็นพันธมิตรร่วมโครงการด้วย

หน้ากากผ้าเพื่อชุมชนด้วยฝีมือชุมชน

การทำงานร่วมกันระหว่างเอสซีจี บีเอสที และวิสาหกิจชุมชนในครั้งนี้ ทำให้ได้หน้ากากผ้าจำนวนกว่า 36,500 ชิ้น ภายในเวลาไม่ถึงเดือน ประกอบด้วยหน้ากากผ้าสำหรับผู้ใหญ่และสำหรับเด็ก เพื่อส่งต่อความห่วงใยให้กับชุมชนกว่า 72 ชุมชนใน 3 เขตเทศบาล ได้แก่ เทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา และเทศบาลตำบลบ้านฉาง นอกจากนี้ ด้วยความใส่ใจถึงเด็ก ๆ ในชุมชนด้วย จึงได้ผลิตหน้ากากสำหรับเด็ก เพื่อให้มีขนาดกระชับพอดีกับใบหน้า โดยหน้ากากผ้าทั้งหมดได้ส่งถึงมือชุมชนแล้ว สามารถช่วยให้ชุมชนมีหน้ากากผ้าไว้ใช้ได้ทันท่วงทีตามประกาศจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดระยอง ที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระยองสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากเคหสถาน และด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการป้องกันเชื้อโควิด-19  จึงทำให้วันนี้ จังหวัดระยองไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว

แบ่งปันสู่ผู้อื่น … น้ำใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ของวิสาหกิจชุมชนระยอง

นอกเหนือจากการผลิตหน้ากากผ้าตามโครงการ “หน้ากากผ้าเพื่อชุมชนด้วยฝีมือชุมชน” แล้ว วิสาหกิจชุมชนระยองยังมีน้ำใจแบ่งปันหน้ากากผ้าฝีมือของสมาชิกฯ ให้กับผู้อื่นด้วย

หน้ากากผ้าฝ้ายมัสลินสีธรรมชาติจากเปลือกมังคุดและสีครามเหล่านี้ เป็นฝีมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แตนบาติก จ.ระยอง นำโดยพี่แตน ไพลิน โด่งดัง ที่แต่เดิมได้ตัดเย็บผ้าย้อมคราม แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน พี่แตนจึงรวมกลุ่มสมาชิกฯ เย็บหน้ากากผ้าฝ้ายมัสลินย้อมธรรมชาติจากเปลือกมังคุด ผลไม้ประจำจ.ระยอง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาสุขภาพและรายได้ของชุมชน

“พี่และสมาชิกฯ อยากมีส่วนช่วยเหลือในวิกฤตนี้ วิสาหกิจชุมชนแตนบาติกมีความสามารถในการตัดเย็บผ้าอยู่แล้ว จึงได้อาสามาเย็บหน้ากากผ้าโดยมีไอเดียนำเปลือกและใบมังคุดซึ่งเป็นผลไม้ท้องถิ่นจ.ระยอง มาย้อมผ้า ซึ่งสีที่ได้จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ปลอดภัยกับผู้สวมใส่ ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนเรื่องการสกัดผงสีจากเปลือกและใบมังคุดจากเอสซีจี และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยหลังจากที่ทำหน้ากากผ้าเสร็จแล้ว เราจะนำไปซักทำความสะอาด ฆ่าเชื้อก่อนบรรจุใส่ซอง เพื่อให้มั่นใจถึงความสะอาดและปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ และคนในชุมชนที่ได้รับหน้ากากผ้าฝ้ายมัสลินย้อมสีเปลือกมังคุดของแตนบาติก” นางไพลิน โด่งดัง ประธานวิสาหกิจชุมชนแตน บาติก จ.ระยอง

 ขณะเดียวกัน วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า ชุมชนมาบชลูด จ.ระยอง นำโดยพี่ประคอง เกิดมงคล เมื่อทราบว่าหน้ากากอนามัยขาดแคลน หลายคนหาซื้อไม่ได้ จึงได้อาสาระดมสมาชิกและผู้ขาดรายได้จากวิกฤตนี้มาช่วยกันผลิตและตัดเย็บหน้ากากผ้าฝ้ายมัสลิน โดยพี่ประคองได้ใช้ความสามารถเดิมในการตัดเย็บกระเป๋าผ้ามาดัดแปลง

“ช่วงนี้มีสมาชิกและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมกลุ่มกันกว่า 20 คน มาช่วยตัดเย็บหน้ากากผ้าฝ้ายมัสลิน โดยมีสมาชิกวิสาหกิจฯ เป็นผู้สอน เรามีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่หายากและราคาสูง ทั้งผ้า ด้าย ยางยืด รวมทั้งซองใส่หน้ากากผ้า แต่ดีที่มีน้อง ๆ จากเอสซีจีและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนมาช่วยประสานงานแหล่งซื้อวัตถุดิบ ตลอดจนวางแผนการผลิต ทำให้พวกพี่มีเวลาตัดเย็บให้ทันเวลาและดูความเรียบร้อยของชิ้นงานให้ดีที่สุด” นางประคอง เกิดมงคล ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า ชุมชนมาบชลูด จ.ระยอง

สอดคล้องกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพตัดเย็บ ชุมชนบ้านบน จ.ระยอง ที่มีหัวเรี่ยวหัวแรงอย่างพี่ภาวิณี บัวนาค ที่เปิดรับสมัครคนในชุมชนให้มาเรียนการตัดเย็บหน้ากากผ้าฝ้ายมัสลิน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ชาวระยองก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

“ผลพวงจากการยกเลิกเทศกาลสงกรานต์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเสื้อสงกรานต์ลดลง ยอมรับว่าส่งผลกระทบพอสมควร ประกอบกับเกิดการขาดแคลนของหน้ากากอนามัย จึงเห็นช่องทางชักชวนกลุ่มสมาชิกฯ มาตัดเย็บหน้ากากผ้าฝ้ายมัสลินแทน ซึ่งผลตอบรับดีมาก ยอดสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากจนต้องเร่งผลิตเพิ่ม ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ขาดรายได้ พี่ยินดีสอนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งพี่คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้พวกเขานำมาต่อยอดในการสร้างรายได้ในอนาคตได้” นางภาวิณี บัวนาค ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพตัดเย็บ ชุมชนบ้านบน จ.ระยอง

 

 

ผ้าฝ้ายมัสลิน วัสดุดี ทางเลือกของผู้ไม่มีอาการป่วย

สำหรับวัสดุที่เลือกมาตัดเย็บหน้ากากคือ “ผ้าฝ้ายมัสลิน” ที่มีคุณสมบัติในการกักอนุภาคขนาดเล็ก การป้องกันการซึมผ่านของละอองน้ำ สามารถนำไปซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เย็บจีบกลาง มีสายยางยืดคล้องหู สามารถซักรีดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งได้  

นอกจากนี้ ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพของเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไวรัสโควิด-19 ทางวิสาหกิจชุมชนฯ จึงได้ตัดเย็บหน้ากากผ้าฝ้ายมัสลินที่มีขนาดเล็กเหมาะสมกับเด็กวัย 5-8 ขวบ มีสายยางยืด สวมใส่สบายและกระชับใบหน้าของเด็กอีกด้วย

ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มตัดเย็บในเครือข่ายของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ตัดเย็บหน้ากากผ้ามัสลินไปแล้วกว่า 50,000 ชิ้น สร้างรายได้ให้กับกลุ่มฯ และชุมชนเครือข่ายกว่า 800,000 บาท ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกวิกฤตมีโอกาสจึงทำให้ทุกคนพร้อมปรับตัว ไม่ปล่อยให้วิกฤตเป็นอุปสรรค แต่รู้จักใช้วิกฤตสร้างโอกาส สู้คนเดียวอาจไม่ชนะ แต่สู้เป็นหมู่คณะเราชนะได้อย่างแน่นอน

ผู้ที่สนใจ “หน้ากากผ้าฝ้ายมัสลิน”  ฝีมือวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง ติดต่อได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก โทร 086 140-6699 วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด โทร 081 649-1089 และวิสาหกิจชุมชนอาชีพตัดเย็บชุมชนบ้านบน โทร 099 535-5624

 

covid-19Social Distancingวิสาหกิจชุมชนหน้ากากผ้าเอสซีจี
Comments (0)
Add Comment