New normal เทรนด์คนไทยหลัง COVID-19 วิถีชีวิตที่ (ไม่) เหมือนเดิม
Economic Intelligence Center (EIC) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยใช้ข้อมูล Google Trends ซึ่งเป็นข้อมูลแนวโน้มการค้นหาคำต่าง ๆ ผ่าน Google Search พบว่า พฤติกรรมยอดฮิตของผู้บริโภคหลายประเภทในช่วงล็อกดาวน์ยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเป็นพฤติกรรม New normal ของคนไทย เช่น food delivery, e-commerce และการประชุมออนไลน์ เป็นต้น
การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทั้งจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสและมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกนอกบ้าน แต่หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ดีระดับหนึ่ง รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวลและปรับพฤติกรรมการบริโภคอีกครั้ง โดย EIC มีข้อค้นพบจากการวิเคราะห์ข้อมูล Google Trends ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสนใจของผู้บริโภคคนไทยในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
คนไทยกลับมาสนใจกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้นหลังคลายช่วงล็อกดาวน์ : แม้ว่าในช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน คนไทยจะสนใจกิจกรรมนอกบ้านลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ความสนใจกิจกรรมนอกบ้านก็เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการค้นหาคำว่า “โรงแรม” และ “อาหารบุฟเฟต์” ที่ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 มีจำนวนการค้นหาสูงกว่าช่วงล็อกดาวน์ (เดือนเมษายน-พฤษภาคม) ถึง 470% และ 232% ตามลำดับ และความสนใจต่อทั้ง 2 กิจกรรมยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกด้วย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความต้องการที่สะสมมาจากช่วงล็อกดาวน์ (pent-up demand) การมีช่วงวันหยุดยาวพิเศษ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี ความสนใจที่เพิ่มขึ้นผ่าน Google Search ไม่ได้หมายถึงการใช้จ่ายที่กลับมาในระดับเดียวกัน สะท้อนจากทั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้กิจกรรมนอกบ้าน อาทิ การไปโรงภาพยนตร์ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าช่วงปกติ สะท้อนจากจำนวนการค้นหาชื่อเครือโรงภาพยนตร์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันระหว่างปี 2560-2562 ถึง 44%
กิจกรรมภายในบ้านในช่วงกักตัวยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าในอดีต แม้ความนิยมจะเริ่มลดลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังมีการล็อกดาวน์ : ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ผู้คนเริ่มหากิจกรรมในบ้านชดเชยการออกนอกบ้าน จึงเกิดกระแสกิจกรรมภายในบ้านหลากหลายประเภท เช่น 1) การทำอาหารที่บ้าน สะท้อนจากคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เครื่องครัว อาทิ “หม้อทอดไร้น้ำมัน” และ “เตาอบ” ได้รับความนิยมสูงสุดในเดือนพฤษภาคม โดยคำค้นหาอุปกรณ์เครื่องครัวสูงสุดถึง 474% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน 2) การปลูกผักและต้นไม้ จากยอดค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักและต้นไม้สูงสุดในเดือนมิถุนายนสูงถึง 49% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน 3) การออกกำลังกายในบ้าน จากคำค้นหาวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายใน Youtube เพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคมถึง 122% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน และ 4) การทำงานที่บ้าน สะท้อนจากความสนใจอุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้ คีย์บอร์ดและเมาส์ เป็นต้น ซึ่งสูงสุดในเดือนมิถุนายนถึง 30% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้กิจกรรมภายในบ้านที่กล่าวมาข้างต้นได้รับความสนใจลดลง หลังจากที่เริ่มสามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ สะท้อนจากคำค้นหาตามคีย์เวิร์ดดังกล่าวที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เริ่มมีมาตรการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ และอาจรวมไปถึงการที่คีย์เวิร์ดบางคำเป็นเพียงการค้นหาที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time search) เช่น การค้นหา “โต๊ะทำงาน” ที่เมื่อซื้อมาแล้วทำให้ไม่จำเป็นต้องค้นหาอีก และจากข้อมูลดัชนี Google Mobility หมวดที่พักอาศัยยังแสดงให้เห็นว่าคนยังคงอยู่ในบ้านมากกว่าช่วงก่อน COVID-19 อย่างไรก็ตาม การค้นหาคำเกี่ยวกับเทรนด์ต่าง ๆ ข้างต้นก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังซึ่งบ่งชี้พฤติกรรม New normal โดยอาจมาจากการที่หลายคนได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน (work from home) ในสัดส่วนที่มากขึ้น ความนิยมสำหรับกิจกรรมในบ้านจึงมีมากกว่าในอดีตช่วงก่อน COVID-19
COVID-19 เร่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมสูงกว่าแนวโน้มปกติ : ในช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19คนไทยมีแนวโน้มปรับตัวมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากแนวโน้มการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย COVID-19 ได้ช่วยเร่งกระแสการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่เร่งตัวจากแนวโน้มปกติอย่างเห็นได้ชัด จากความจำเป็นในการเข้าถึงสินค้าและบริการในช่วงที่ช่องทางเดิมมีข้อจำกัดในการใช้บริการ เช่น การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มe-commerce ทดแทนการไปห้างสรรพสินค้า การใช้บริการ food delivery ทดแทนการรับประทานอาหารที่ร้านการประชุมทางไกลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทดแทนการประชุมแบบปกติ หรือการดูภาพยนตร์ผ่านแอปพลิเคชันดูหนังออนไลน์ต่าง ๆ แทนการออกไปโรงภาพยนตร์
อย่างไรก็ดี ปริมาณการค้นหาสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ลดลงจากช่วงล็อกดาวน์เช่นกัน ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจากการค้นหาส่วนใหญ่เป็นแบบ one-time search กล่าวคือ หลังจากการค้นหาในครั้งแรก ๆ แล้ว ผู้ใช้อาจใช้งานจากแพลตฟอร์มโดยตรงในครั้งถัดไป ซึ่งจากข้อมูลของแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่า แม้ปริมาณการค้นหาบน Google จะลดน้อยลง แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงบนแพลตฟอร์มยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง เช่น ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Lazada ประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
EIC มองว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศผ่อนคลาย หลายกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในช่วงการล็อกดาวน์อาจกลายเป็น New normal บางพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจอาจไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมก่อนช่วง COVID-19 เช่น หลายบริษัทในเมืองได้มีการปรับตัวด้านรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานทางไกล (remote work) มากขึ้น ทำให้มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการใช้ชีวิตในหลายด้านของคนจำนวนไม่น้อย ทั้งการใช้เวลา การใช้พื้นที่ และรูปแบบการใช้จ่าย พฤติกรรมการค้นหาบน Google ล่าสุดเป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงแนวโน้มดังกล่าว โดยได้บ่งชี้ว่าพฤติกรรมหลายอย่างที่ฮิตในช่วงล็อกดาวน์ยังคงสูงกว่าในอดีตช่วงก่อน COVID-19
สำหรับพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เร่งตัวสูงจากความจำเป็นในช่วง COVID-19 นั้น EIC มองว่าเป็นตัวเร่งการปรับตัวระยะยาวที่สำคัญของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยเฉพาะหากบริการออนไลน์นั้นสามารถเข้ามาทดแทนรูปแบบการใช้จ่ายเดิม ๆ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ให้บริการที่ดีกว่าและเร็วกว่าได้ การขยายตัวของออนไลน์แพลตฟอร์มจึงมีแนวโน้มส่งผลกระทบถึงธุรกิจเดิมในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น การขยายตัวของ e-commerce ที่กระทบต่อยอดขายค้าปลีกช่องทางออฟไลน์, แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ที่อาจแย่งกลุ่มลูกค้ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (commercial real-estate) ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำนักงาน co-working space หรือพื้นที่ให้เช่าสำหรับการจัดประชุม-สัมมนา, แพลตฟอร์มดูหนังออนไลน์ที่ดึงกำลังซื้อบางส่วนจากโรงภาพยนตร์หรือบริการ food delivery ที่เข้ามาทดแทนการทานอาหารที่ร้าน เป็นต้น แนวโน้มดังกล่าวนี้จึงมีนัยต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ โดยหากธุรกิจไม่ปรับตัวไปกับ New normal นอกจากจะต้องเผชิญกับผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอีกด้วย