เคบีทีจี (KBTG) ผู้นำด้านไฟแนนเชียล เทคโนโลยี ประกาศเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านแบงกิ้งในกลุ่มประเทศเออีซี โชว์ยอดใช้บริการผลงานเด่นที่เปิดใช้ไปก่อนหน้า พร้อมสร้าง Development Hub ใน 3 ประเทศ ทั้งไทย เวียดนาม และจีน ภายใต้กรอบวัฒนธรรมองค์กร “One KBTG” ที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่ง สู่เป้าหมาย “Think Thailand Think KBTG”
จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีความคุ้นเคยกับดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจากธุรกรรมซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ผู้ใช้โมบายแบงกิ้งก็มีอายุมากขึ้นเฉลี่ย 40-50 ปี จากเดิม 25-39 ปี ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งาน K+ ราว 14 ล้านคน คาดว่าจะมียอดทำธุรกรรมทำสถิติกว่า 20,000 ล้านรายการในปีนี้ รวมถึงการร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมทางการเงินในทุกอุตสาหกรรม
สำหรับแอปพลิเคชันขุนทองมีลูกค้าดาวน์โหลดแล้ว 500,000 ราย แอป Make ดาวน์โหลดแล้ว 20,000 ราย Eatable 10,000 ราย และมีพันธมิตรใช้ Contactless Technology 20 ราย โดยล่าสุดได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเปิดตลาดทุนแบบใหม่ในประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนและลงทุนในผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มใหม่
ทั้งนี้ KBTG ได้ตั้ง Development Hub ขึ้นใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และจีน เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีได้ทันกับโครงสร้างการให้บริการของธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตรที่มุ่งสู่ดิจิทัล แบงกิ้งมากขึ้น
ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย ประสบความสำเร็จในการให้บริการ QR KBank ใน สปป.ลาว และได้ขยายบริการจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปที่สะหวัดนะเขตเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการแล้ว 70,000 ราย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 200,000 ราย
สำหรับในเมียนมา ได้ร่วมกับเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือเอแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารที่ธนาคารกสิกรไทยร่วมลงทุน เตรียมนำแอปพลิเคชัน K+ ไปพัฒนาใช้ในเมียนมาในชื่อ A+ ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย จนเป็นแอปฯ การเงินอันดับหนึ่งในขณะนี้
ส่วนในประเทศจีน KBTG เปิด K-TECH ที่เมืองเชินเจิ้น ประเทศจีน โดยมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านหยวนเรียบร้อยแล้ว ตั้งเป้าจะรับพนักงานประมาณ 300 คน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการทางเงินสำหรับธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีนและประเทศอื่น และพันธมิตร โดยธนาคารกสิกรไทยในจีนมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายย่อยในการปล่อยสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีช่องว่าง ในลักษณะที่เป็น Digital Lending