จัดการขยะอย่างเป็นระบบและครบวงจรทำได้จริงหรือ? เป็นคำถามที่คุ้นหูในช่วงที่เราพยายามจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาวิกฤตขยะและการขาดแคลนทรัพยากร จากการเร่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย เพราะมุ่งผลิตสินค้า ใช้ แล้วทิ้งไป (Linear Economy) เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์
เวที “SD Symposium” ที่จัดโดยเอสซีจีและพันธมิตร ได้นำตัวอย่างที่แต่ละภาคส่วนได้ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อ “ไม่ให้มีขยะ” มาเผยแพร่ในงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “ถอดบทเรียนต้นแบบการจัดการขยะ (Waste Management – Recycling Ecosystem and Environmental Saving) เพื่อกระตุ้นและขยายวงให้ทุกคนได้มีส่วนสร้างวงจรที่ช่วยหมุนเวียนนำ “ขยะ” มาสร้างคุณค่าต่อในระบบเศรษฐกิจได้อย่างไม่รู้จบ โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อรับชมการนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ ได้ในวันจันทร์ที่ 9 พ.ย. 2563 เวลา 13.30 – 15.00 น. ในรูปแบบออนไลน์ที่
ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ – สายงานสำนักกรรมการผู้จัดการ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดค้าส่งผักผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เล่าถึงการแก้ไขปัญหาขยะจากตลาดค้าส่งกว่า 230 ตัน ว่า สัดส่วนร้อยละ 80 ของขยะที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งสามารถนำไปคัดแยกและสร้างมูลค่าได้ด้วย 5 ระบบ คือ 1.) นำเศษผักผลไม้ที่เหลือจากแผงวันละ 90 ตัน ไปทำเป็นอาหารให้กับปลาและวัว 2.) นำขยะอินทรีย์บางส่วนไปพัฒนาคิดค้นสูตรน้ำหมัก EM เพื่อใช้ชำระล้างภายในตลาด โดยอนาคตจะต่อยอดสู่การทำแบรนด์ของตนเอง 3.) จุดทิ้งขยะของทุกตลาดจะมีถังคัดแยกขยะอินทรีย์และขยะทั่วไป และมีจุดรับซื้อขวดน้ำพลาสติก กระป๋อง และลังโฟม เพื่อนำไปรีไซเคิล 4.) จัดสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่มาจากตลาดและหมู่บ้าน โดยสามารถบำบัดน้ำเสียได้มากถึงวันละ 6,500 ลบ.ม. ต่อวัน และนำน้ำที่ได้จากการบำบัดไปใช้ล้างพื้นที่รอบตลาดทุกวัน และ 5.) ติดแผงโซลาร์เซลล์บริเวณหลังคาอาคารห้องเย็น เพื่อเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า และสามารถนำกลับมาใช้ได้สูงถึงร้อยละ 20 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
ผลลัพธ์จากการดำเนินงานทั้ง 5 ระบบนี้ ช่วยตอบโจทย์ให้ธุรกิจสามารถลดรายจ่ายสำหรับการจัดการขยะด้วยการฝังกลบได้ถึง 4 ล้านบาทต่อปี และยังทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “ขยะ” เช่น น้ำหมัก EM ผลิตภัณฑ์ชำระล้าง อาหารวัว และปุ๋ย ตลอดจนทำให้ตลาดสะอาด ชุมชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ร่วมกันจึงส่งผลให้ธุรกิจมั่นคงอย่างยั่งยืน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น นอกจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่กล้าลงทุนในสิ่งที่ยังไม่สามารถวัดผลลัพธ์เป็นกำไรได้อย่างรวดเร็วในวันแรก ยังเกิดจากความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดกว่า 6,000 คน ตั้งแต่การช่วยคัดแยกขยะ มีการออกแบบถังขยะให้ง่ายต่อการคัดแยก ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นโดยไม่ต้องบังคับ และทำให้กลายเป็นวินัยของทุกคนในที่สุด “โลกของเรามีทรัพยากรจำกัด จึงต้องทำให้ทรัพยากรนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่งผลดีต่อธุรกิจ และลดต้นทุนการกำจัดขยะ และยังเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ”
ด้าน สปัญญ์ ปาลีวงศ์ Business Development Director, Smart Service and Management Co.,Ltd ผู้บริหารโครงการที่พักอาศัย ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลคุณภาพชีวิตลูกบ้านใน 284 โครงการ ด้วยการสื่อสารเรื่องการคัดแยกขยะในทุกช่องทาง ทั้งแอปพลิเคชัน โซเชียลมีเดีย และป้ายต่าง ๆ บริเวณทางเดินและลิฟต์ ให้ลูกบ้านส่วนร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีจากตัวเอง อีกทั้งยังได้จัดประกวดแข่งขันระหว่างลูกบ้าน 2,342 ครัวเรือน ใน 55 โครงการ ใน “โครงการคัดแยกขยะ” เพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้รับซื้อสำหรับนำไปรีไซเคิล อีกทั้งล่าสุดได้ร่วมมือกับ SCGP คัดแยกขยะที่เป็นกระดาษ
“เงินจากการขายขยะของลูกบ้านกว่า 60,000 บาท ถือเป็นรายได้เข้าสู่ส่วนกลาง นี่คือตัวอย่างที่ทำให้ลูกบ้านเห็นว่าเป็นผลลัพธ์ที่เริ่มต้นจากที่ทุกคนช่วยกัน จึงทำให้มีเงินเข้ามาที่นิติบุคคลโดยไม่ต้องเก็บเงินค่าส่วนกลางกับลูกบ้านเพิ่ม และอยู่ระหว่างการขยายโครงการไปสู่ลูกบ้านในโครงการอื่น ๆ นับเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับผู้บริโภค ซึ่งภาคธุรกิจต้องมีบทบาทกระตุ้นให้ลูกบ้านลุกขึ้นมาสร้างประโยชน์ที่ดีต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคมที่อยู่อาศัย”
ขณะที่ วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม PETROMAT และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste มุ่งมั่นที่จะพัฒนาต้นแบบการลดขยะในพื้นที่กลางเมือง ที่มีพื้นที่น้อยแต่มีประชากรหนาแน่นและสร้างขยะจำนวนมาก จึงเริ่มสร้างค่านิยม Zero Waste ด้วยหลัก 3R (Reduce-Reuse-Recycle) คือ ลดการใช้ทรัพยากร นำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด รวมถึงการนำกลับมาเป็นทรัพยากรในการผลิตใหม่ ด้วยการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การสร้างจิตสำนึกและวางเป้าหมายที่จะลดขยะเหลือทิ้งให้ได้ร้อยละ 30 ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยหลากหลายวิธีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมบุคลากรและนิสิต ทั้ง 1.) เก็บเงินค่าถุงพลาสติกใบละ 2 บาท ทำให้ลดการใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัยได้ถึงร้อยละ 90 เพราะทำให้ผู้ใช้เกิดการคิดก่อนใช้ 2.) ติดตั้งตู้กดน้ำ และแจกกระบอกน้ำให้นิสิตและบุคลากร เพื่อกระตุ้นให้ใช้กระบอกน้ำส่วนตัว และ 3.) นำนวัตกรรมวัสดุที่ย่อยสลายได้มาใช้แทนแก้วน้ำพลาสติกและจัดการอย่างครบวงจร ได้แก่จัดการให้มีระบบการแยกทิ้งเฉพาะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการรีไซเคิล ทำให้สามารถนำแก้วไปหมักให้เกิดการย่อยสลายเป็นชีวมวล (Biomass) หรือส่งให้กรมป่าไม้นำไปใช้ทดแทนถุงดำเพาะชำ ซึ่งเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกและยังช่วยให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดจากแก้วน้ำพลาสติกได้กว่า 2 ล้านใบต่อปี
“เดิมมีขยะอยู่ประมาณ 2,000 ตันต่อปี จากผลการดำเนินงานหลากหลายกิจกรรมใน 4 ปี ช่วยลดปริมาณขยะได้เกือบ 500 ตัน แต่วัสดุที่ย่อยสลายได้เป็นกับดักใหญ่สำหรับประเทศไทย เพราะส่วนมากวัสดุที่ย่อยสลายได้ในท้องตลาดจะเป็นพลาสติกที่แตกสลายและกลายเป็นไมโครพลาสติก ดังนั้น การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ต้องใช้วัสดุที่มีมาตรฐาน แยกให้ถูกประเภท และย่อยให้ถูกวิธีด้วยกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ หากมีครบทั้ง 3 ปัจจัย ก็มั่นใจได้ว่าสามารถจัดการขยะได้จริงตามหลัก Circular Economy”
รัมภ์รดา นินนาท รองผู้อำนวยการ เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และภาคส่วนต่าง ๆ โดยมุ่งนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ โครงการ “วิภาวดีไม่มีขยะ” และ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เพื่อลดขยะสู่บ่อฝังกลบ เพิ่มการรีไซเคิล และลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเก็บสะอาด (GEPP S-Ard) เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นตัวช่วยเก็บข้อมูลปริมาณขยะ ติดตาม และประเมินผล พร้อมเชื่อมต่อกับ Solution Providers ทั้ง แอปพลิเคชัน PAPER X ของ SCGP ในการเก็บขยะประเภทกระดาษ และ AIS e-waste ในการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
“โครงการวิภาวดีไม่มีขยะ ได้รับความร่วมมือจาก 31 องค์กรที่ตั้งอยู่ตลอดถนนวิภาวดี โดยแต่ละองค์กรได้เริ่มจัดการขยะภายในองค์กรตนเอง โดยมีอัตราการรีไซเคิลเฉลี่ยของทั้งโครงการประมาณร้อยละ 8 เป้าหมายต่อไปคือการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลได้ขององค์กรในโครงการให้ได้ร้อยละ 40”
สำหรับโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เป็นการบริหารจัดการขยะตลอดเส้นทางสุขุมวิท ด้วยการร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าจัดตั้งจุดคัดแยกขยะ และร่วมกับบริษัทที่รับขยะ นำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล รวม 39 ภาคี
“ในช่วง 2 เดือนที่ดำเนินโครงการ ถือว่าได้ผลดีเกินคาด ไม่ใช่เพราะได้ปริมาณขยะถึง 2.2. ตัน แต่กว่าร้อยละ 90 ของขยะที่ผู้บริโภคนำมาทิ้งเป็นขยะที่สะอาด ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการแยกขยะของผู้บริโภค”
ปัจจัยความสำเร็จต้องเกิดขึ้นจากการที่มีนโยบายที่ชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วม มีการสื่อสารและสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้มีการแยกขยะได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่ต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้ติดตามและประเมินผลได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการหาเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้ง่าย เก็บข้อมูลได้ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ทำให้เห็นว่า การจัดการขยะได้เริ่มต้นขึ้นแล้วจากความพยายามของหลายภาคส่วน ด้วยการแก้ปัญหาที่ใช้วิธีการที่แตกต่างกันตามจึงจะเกิดขึ้นได้จริงปนไร้ขยะเกิด้เกิดขึ้นบริบท เพื่อเพิ่มคุณค่าของ “ขยะ” ให้กลายเป็น “ทรัพยากร” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จริง เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างจริงจัง พร้อมกับการบริหารจัดการขยะเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ จึงจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ และลงทะเบียนรับชมงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” วันจันทร์ที่ 9 พ.ย. 2563 เวลา 13.30 – 15.00 น. แบบออนไลน์ได้ที่ หรือ QR Code นี้