SCG – ทช. – คณะสัตวแพทยฯ จุฬาฯ ต่อยอดความสำเร็จ “นวัตปะการัง”
ด้วย เอสซีจี โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution จัดงาน Exclusive Interview นำเสนอความร่วมมือในการสานต่อนวัตกรรมพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยอย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีที่มี 3D Cement Printing มาพัฒนากับวัสดุ Advanced Materials ขึ้นรูปการพิมพ์ 3 มิติ เป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง สร้างต้นแบบที่มีความกลมกลืนเสมือนจริงใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล
ความร่วมมือนี้ครอบคลุมไปถึงการศึกษา วิจัย ติดตามผลตามแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยความร่วมมือดังกล่าวได้นำไปต่อยอดและนำเสนอจนได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ประจําปี 2563 โดยมี คุณอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ Group Leader, Mortar Technology Research, Research and Innovation Center ธุรกิจ Cement and Construction Solution – SCG ร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน
สำหรับความก้าวหน้าในการต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง โดยนำเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมือกับพันธมิตรไปอีกขั้น เมื่อผลงาน “นวัตปะการัง” ที่ SCG และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันศึกษา วิจัย และออกแบบ ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรมปะการังเทียมที่มีรูปแบบสวยงาม มีความมั่นคงเสมือนปะการังจริง และยังย่อยสลายได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทางทะเล อีกทั้งยังสามารถเข้ากันได้กับธรรมชาติทางทะเลอย่างสมบูรณ์
จากผลสำเร็จดังกล่าว SCG โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution ยังคงมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการผลักดันการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และเตรียมขยายผลไปสู่การสร้างเครือข่ายกับภาคประชาชน เพื่อปลูกจิตสำนึกและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
ข้อมูล “นวัตปะการัง”
“นวัตปะการัง” เป็นนวัตกรรมปะการังเทียมรูปแบบใหม่ ที่มีความสวยงามเสมือนจริงตามธรรมชาติทางทะเล โดยโครงสร้างด้านวัสดุของนวัตปะการังถูกปรับแต่งให้เข้ากันได้ดีกับสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี SCG 3D Cement Printing มีความแข็งแรงในการใช้งาน สามารถปรับแต่งรูปแบบ และลักษณะทางโครงสร้าง รวมทั้งความซับซ้อนของช่องว่าง แสง และเงาให้เข้ากับสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่การติดตั้ง มีน้ำหนักเบา ทำให้ขนย้ายได้ง่าย สามารถถอดประกอบได้เป็นการลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายทางการขนส่ง และแรงงานในการติดตั้ง นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนสิ่งมีชีวิต รวมถึงความหลากหลายของชนิดพันธุ์อย่างยั่งยืน
ผลประโยชน์ทางด้านสังคม
เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กร ต้องการให้สังคมเกิดการตระหนักถึงความสำคัญ และการมีส่วนร่วมต่อการรับผิดชอบร่วมกันในสังคมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเพิ่มโอกาส ทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ
จากแนวทางความร่วมมือ ไม่เพียงแต่ฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่ยังมีประโยชน์กับประเทศ ในเรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรงหากมีการจัดพื้นที่และส่งเสริม การท่องเที่ยวในการดำน้ำชมปะการังที่มีความสวยงามเสมือนจริง และสามารถสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ยังสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงที่ได้มีการพึ่งพาปะการังหรือปะการังเทียมเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าว จะสามารถทำการประมงได้ในปริมาณที่มาก ส่งผลให้เกิดรายได้ในชุมชน
ผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม
แนวทางการพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ที่ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมกันศึกษา วิจัย และออกแบบ ขึ้นรูปด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อน้ำทะเลและสิ่งมีชีวิต ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดผลเสียต่อธรรมชาติแล้วยังสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศได้อย่างชัดเจน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งเกาะตัวของปะการัง ทำให้เกิดการรวมตัวกันมากขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพ ตามธรรมชาติในบริเวณที่มีการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล