ปัญหาน้ำของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม น้ำแล้ง และ น้ำเสีย ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากยาวนานส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ
ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น ในงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” ที่จัดขึ้นโดย เอสซีจี เพื่อหาทางออกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาวิกฤตน้ำประเทศไทย ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมเสนอทางรอดและข้อสรุป ตลอดจนแนวทางให้เกิดการขยายผลนำไปปฏิบัติจริง โดยเชื่อว่า การบริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตน้ำได้อย่างยั่งยืน
ชงข้อเสนอ “ระบบจัดการน้ำหมุนเวียน” ทางรอดวิกฤตภัยแล้ง
การบริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” คือ การจัดการน้ำและการจัดรูปที่ดินให้สามารถใช้น้ำซ้ำได้หลายรอบ ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมชุมชนเรียนรู้การจัดการน้ำด้วยตนเอง จนเกิดเป็นชุมชนยั่งยืนที่แก้ปัญหาสำเร็จ ช่วยเพิ่มผลผลิต การเกษตร สร้างอาชีพมั่นคง รายได้ยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเอง และรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งได้ โดยได้ถอดบทเรียนจากชุมชนต้นแบบใช้น้ำหมุนเวียน ได้แก่ ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี, ชุมชนศาลาดิน จ.นครปฐม, ชุมชนบ้านป่าภูถ้ำ จ.ขอนแก่น และ ชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง เป็นกรณีศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางให้เกิดการขยายผลต่อในชุมชนอื่น ๆ
พร้อมข้อเสนอร่วมแก้ปัญหาด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” โดย 1. สนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเอง เรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี “สร้างระบบน้ำหมุนเวียน” ให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละชุมชน รวมทั้งเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้การเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาตลาดค้าส่งในท้องถิ่นให้แก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่น จากพิษเศรษฐกิจ COVID-19 และ 2.เชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายผล “ระบบน้ำหมุนเวียน ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุด
ปี 2564 ไทยเผชิญวิกฤตหนัก ฝนน้อยเก็บน้ำได้ไม่เพียงพอความต้องการใช้
“ปัญหาหนึ่งของไทยคือ ยังมองภาพการบริหารแบบรวมศูนย์ ทำให้ขาดเรื่องการบริหารขนาดเล็ก หรือ การบริหารนอกเขตชลประทาน ทั้งที่มีโครงสร้างอ่างน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 35 แห่ง รวมทั้งอ่างน้ำขนาดเล็กอีกนับพันแห่งที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่น แต่ขาดการเตรียมความพร้อมของท้องถิ่น มองว่าสถานการณ์น้ำก้าวสู่ภาวะวิกฤตแล้ว แต่เรายังไม่มีการปรับโครงสร้าง ไม่ได้ปรับการบริหารจัดการ แล้วเราจะเดินกันอย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราพบคือ การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือ อาศัยหลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และการบริหารความเสี่ยงไม่ได้บริหารที่กำไรสูงสุด ต้องกระจายความเสี่ยงออกไปแทนที่จะทำนาอย่างเดียว ต้องปรับเปลี่ยนมาผสมผสาน และต้องรู้จักนำสิ่งที่มีในชุมชนมาสานต่อด้วยความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม”
ปัญหาซ้ำซากรัฐเยียวยาปีละ 6 พันล้าน เอกชนชง 3 ข้อเสนอร่วมแก้วิกฤต
“ข้อเสนอทางรอดแก้วิกฤตน้ำของภาคเอกชนมองทั้ง 3 ด้าน หลักการคือ เก็บน้ำให้ได้มากที่สุด และใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด รวมถึงจัดการระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่าที่สุด ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา อาจเป็นลักษณะของการแมชชิ่ง โมเดล ช่วยกันสนับสนุนชุมชนก็ได้ ขุดดินแลกน้ำ การระบายน้ำเพื่อแก้น้ำท่วม เพราะมีการขวางทางน้ำหลายจุดในประเทศไทย และสำคัญคือการใช้น้ำให้คุ้ม เอาน้ำเสียกลับมาเป็นน้ำดีแล้วใช้น้ำซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
ทั้งนี้ การเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด วางเป้าหมายเก็บน้ำจาก 10% ต่อปี เพิ่มเป็น 20% ต่อปี ดังนี้ 1. ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำทั้งของรัฐและเอกชน เช่น ขุดลอกแม่น้ำลำคลองที่ตื้นเขิน โครงการขุดดินแลกน้ำ เปิดให้หน่วยงานที่สนใจเข้ามาขุดดินในคลองที่ตื้นเขินนำไปใช้ 2. มีมาตรการจูงใจให้เอกชนขุดบ่อ สร้างแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ตนเอง 3. รณรงค์ทำฝายเพื่อชะลอน้ำ และ 4. รณรงค์ปลูกป่าทุกปี ในระยะยาวมีเป้าหมายจะเพิ่มป่า 5 ล้านไร่ ใน 10 ปี ส่วน การใช้น้ำให้คุ้มค่า คือใช้น้ำในภาคเกษตรให้ประหยัดที่สุด ใช้น้ำรีไซเคิลในโรงงานให้มากที่สุด ใช้น้ำรีไซเคิลในชุมชนเพิ่มขึ้น และนำน้ำเสียจากโรงแรมมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น สุดท้าย การจัดการระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จะเร่งระบายน้ำเพื่อแก้น้ำท่วม เช่น ไม่สร้างสิ่งก่อสร้าง ขวางทางระบายน้ำ วางระบบเร่งระบายน้ำในจุดที่เคยน้ำท่วม และร่วมกับภาครัฐขุดลอกคลองที่ตื้นเขิน รวมทั้งรณรงค์ลดการทิ้งขยะในแหล่งน้ำสาธารณะ
ทางรอดภาคเกษตร ปรับการผลิตให้เหมาะสม ใช้ความรู้และเทคโนโลยีเสริม
“เกษตรกรควรมีน้ำในการใช้ยังชีพและประกอบกิจกรรมของตัวเอง ที่สำคัญมีวิธีจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่ต้องทำคือ ใช้น้ำทุกลิตรให้มีประสิทธิภาพทั้งกับชีวิตและการผลิต ห้ามใช้ฟุ่มเฟือย เพราะวันหนึ่งเราอาจขาดแคลนได้ แม่น้ำจะเป็นทรัพย์สินเปิดเข้าถึงได้เสรี แต่เป็นการใช้ร่วมกัน ถ้าขาดแคลนจะได้รับผลกระทบทุกคน สิ่งที่น่าห่วงสำหรับภาคเกษตรคือ การปรับตัวของเกษตรกร ต้องปรับการผลิตให้ตอบสนองทั่วโลกที่ต้องการอาหารปลอดภัยและมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องปรับสู่การทำฟาร์มที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว สุดท้ายที่เกษตรกรต้องปรับตัวคือ ต้องหมั่นหาความรู้แล้วนำมาปรับกระบวนการผลิตในฟาร์ม”
การเรียนรู้พัฒนาศักยภาพคน ผลักดันสู่การจัดการน้ำหมุนเวียน
“ชุมชนเราก้าวข้ามปัญหาน้ำแล้งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากถูกบังคับให้เรียนรู้เรื่องการสำรวจพื้นที่ การสำรวจเส้นทางน้ำ แผนที่ รวมทั้งเทคโนโลยี ซึ่งชุมชนสามารถเรียนรู้และลงมือทำเองได้ไม่ต้องรอภาครัฐ ที่สำคัญการจัดการน้ำนั้น เป็นเรื่องจัดการคน พัฒนาศักยภาพให้คนพึ่งตนเองได้ หากมีความรู้และเข้าใจตัวเองก็จะสามารถต่อยอดไปเรื่องอื่นได้ ทั้งเรื่องจัดการน้ำ การจัดการที่ดิน จัดการการผลิต นำไปสู่เรื่องการตลาดโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ผมมองว่าความแห้งแล้งไม่ได้ทำให้คนยากจน แต่ต้องมีความรู้ที่จะอยู่กับความแห้งแล้ง รู้จักจัดการน้ำ รู้จักบริหารจัดการการผลิตของตัวเอง เมื่อไม่มีน้ำก็ปรับตัวไปปลูกผักที่ใช้น้ำน้อยแทนอาจสร้างรายได้ที่ดีกว่าการปลูกข้าว”