ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จับมือ เอกชน เปิดศูนย์บริการด้านการรักษาใหม่ ตอบโจทย์ทุกช่วงอายุ ภายใต้แนวทาง “หนึ่งศรัทธา สู่ล้านการเกื้อกูล” พร้อมวางแผนลงทุนหน่วย วันเดย์ทรีตเม้นท์ หรือ “คีโมเทอราปี” (Chemotherapy) รักษามะเร็ง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สร้างศูนย์อุบัติเหตุ รองรับการเรียนการสอน รับส่งต่อผู้ป่วย คาดแล้วเสร็จภายใน 1 – 2 ปี
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกภาคเอกชน แถลงข่าว “หนึ่งศรัทธา สู่ล้านการเกื้อกูล” ขยายบริการด้านการรักษา โดยนำเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยใช้ในการรักษา เพื่อเพิ่มบริการให้ผู้ป่วย ลดภาระงานโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลดความแออัด และเพิ่มการเข้าถึง โดยภายในงาน ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธานในพิธี
“ศูนย์ตรวจการนอนหลับ” รองรับได้ 3 เตียงต่อคืน ไม่รวมการตรวจในช่วงกลางวันมากกว่า 10 คนต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ผู้ป่วยต้องรอคิวนานเป็นปี ขณะที่การตรวจรักษาสำหรับโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง ดังนั้น ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้
และการเพิ่มเครื่อง “ออกซิเจนความดันสูงบำบัด” (Hyperbaric Oxygen Therapy : HBO) ให้มีจำนวนรวม 4 เครื่อง เพิ่มความสามารถในการดูแลผู้ป่วย โดยเครื่องออกซิเจนความดันสูงบำบัด 1 เครื่อง สามารถใช้ได้ 6 คนต่อวัน ดังนั้น หากมีทั้งหมด 4 เครื่อง จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึง 24 คนต่อวัน ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน และมีปัญหาการขาดเลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะปลายทางต่างๆ, ผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจน, ตาบอดเฉียบพลัน, หูดับเฉียบพลันซึ่งอันตรายต้องรีบรักษา, ผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนจากการได้รับแก๊สพิษ และผู้ป่วยที่มีแผลตามร่างกายจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
สำหรับทิศทางในปี 2564-2565 รศ.นพ.ธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางศูนย์ฯ วางแผนเปิดคลินิกให้บริการด้านสูตินรีเวช เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยเด็ก, กลุ่มผู้ป่วยวัยเจริญพันธุ์ และบริการด้านศัลยกรรมทั่วไปให้มากขึ้น ตอบโจทย์การรักษาแบบครบวงจรทุกช่วงอายุ ตั้งเป้าขยายงานบริการด้านการแพทย์ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 700,000 คนต่อปี พร้อมเดินหน้าสนับสนุนศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ให้เป็นโรงพยาบาลที่ศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ทั้งแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ต่อยอดด้านต่างๆ สำหรับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้สามารถมาฝึกวิชาได้ในอนาคต”
รวมถึง มีแผนลงทุนในการสร้างหน่วยให้เคมีบำบัด หน่วยวันเดย์ทรีตเม้นท์ หรือ “คีโมเทอราปี” (Chemotherapy) เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยบางรายไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่จำเป็นต้องได้รับยาด้วยทีมพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ
“การใช้รังสีในการรักษา ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกัน การวินิจฉัยแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีก้อนเนื้อที่สามารถผ่าตัดได้ และหลังผ่าตัดจำเป็นต้องได้รับการฉายแสง หรือ พบว่า มีก้อนเนื้อ แต่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จะต้องได้รับการฉายแสงอย่างเร่งด่วน แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยต้องรอคิวฉายแสงรักษามะเร็งเป็นเวลานาน ดังนั้น การสร้างหน่วยวันเดย์ทรีตเม้นท์ จะสามารถตอบสนองการรักษา โดยเฉพาะเตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่ามีภาวะเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกมากขึ้นในอนาคต” รศ.นพ.ธีระ กล่าว
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าสร้าง “ศูนย์อุบัติเหตุ” เพื่อรองรับการเรียนการสอนและดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุในพื้นที่ช่วงรอยต่อระหว่าง จ.นครปฐม และ กทม. รวมถึงรับส่งต่อผู้ป่วยจากภาคใต้ตอนบน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการดูแลปัญหาอุบัติเหตุ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยไฟไหม้ คาดว่าจะเกิดขึ้นระยะ 1-2 ปีนี้