สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 ฉลองครบรอบ 43 ปี จัดเสวนา “ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต” นำโดย กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ทุเรียน และผักปลอดสารพิษ (GAP) พร้อมแนะทางออกรัฐแก้ปัญหาให้ถูกจุด ลดต้นทุนการผลิต ย้ำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ คุยกันก่อนออกนโยบาย หยุดเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤต หักแขนขาเกษตรกร
นอกจากนี้ ได้จัดทำแบบสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ ผลกระทบหลังห้ามการใช้พาราควอต พบว่า ร้อยละ 94.7 ไม่เห็นด้วยกับการแบนพาราควอต ร้อยละ 91 ไม่เห็นด้วยกับการแบนเพราะไม่มีสารทดแทนเทียบเท่าทั้งด้านราคาและประสิทธิภาพ ประเด็นที่น่าสนใจ ร้อยละ 25 จะเลิกประกอบอาชีพเกษตรกร หากไม่มีสารเคมีที่ใช้ทดแทนพาราควอต เหตุส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากกว่า 3 เท่า ร้อยละ 54 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 46 กระทบต่อต้นทุน 1-2 เท่า ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนเกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกพืชประมาณ 5 ล้านราย อาจเลิกทำเกษตรกรรมสูงถึง 1.25 ล้านราย ในปีหน้า
จะเลิกทำก็ไม่ได้ เพราะหนี้สินท่วมอยู่ ต้องทนทำต่อไป แบบไร้ทางออก
นายสาโรช ดอกไม้ศรีจันทร์ เกษตรกรไร่อ้อย จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเสริมว่า ต้นทุนการผลิตอ้อยตอนนี้เต็มเพดานแล้ว ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ตอนนี้เพื่อนเกษตรกรรายย่อย ทำกันเองในครอบครัว ก็เจอปัญหาหนัก ทั้งปัญหาถูกบีบราคา รัฐบาลบังคับให้ซื้อรถตัดอ้อย คันละ 5 ล้านบาท หนี้สินก็เพิ่ม ทำเกษตรวันนี้ จ่ายหนี้ หยุดทำ หนี้ก็พุ่ง เงินชดเชยจากรัฐบาลก็ไม่เพียงพอ ไม่คุ้มกับต้นทุน และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้แก้อย่างถูกจุด ควรควบคุมต้นทุนการผลิตจะดีที่สุด
ดร. จรรยา มณีโชติ กล่าวสรุปว่า การแบนพาราควอต ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแข่งขันของเกษตรกร อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 73 ซึ่งระบุว่า
รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด
จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้พาราควอต เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เจริญแล้วยังใช้กันอยู่ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้ง ในปีหน้าเตรียมจัดตั้ง มูลนิธิเกษตรเข้มแข็ง เป็นกระบอกเสียงให้เกษตรกว่า 30 ล้านราย เพื่อดำเนินการต่อสู้ ช่วยเหลือและเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ต่อไปในอนาคต