จุดประกายฝัน พัฒนาทักษะอาชีพ สู่ช่องทางทำกินสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา ผ่านโครงการ ‘Career Academies’

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ใบปริญญาคือใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในชีวิต” แต่ในเมื่ออีกด้านของสังคมยังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถคว้าใบปริญญามาครอบครองได้ เพราะไม่มีโอกาสทางทุนทรัพย์ ซึ่งนับเป็นช่องว่างทางสังคมและการศึกษาที่ฝังรากในสังคมไทย แล้วพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างนั้นหรือ?  ปัจจุบันมีผู้คนมากมายในสังคมไทยที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงแม้จะไม่มีกำลังทรัพย์เรียนต่อปริญญา แต่พวกเขาก็ใช้ทักษะต่างๆ ในการทำมาหาเลี้ยงชีพและครอบครัวจนประสบความสำเร็จ

ดังเช่น มงคล โบไธสง หนึ่งในเยาวชนที่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เนื่องด้วยฐานะของครอบครัวที่ไม่อำนวย เขาจึงต้องออกมาช่วยทำงานแบ่งเบาภาระที่บ้าน แต่ด้วยความไม่ย่อท้อในโชคชะตา และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นผู้ช่วยพยาบาล งานการพยาบาลผ่าตัด ฝ่ายพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เจ้าของผลงาน “นวัตกรรมรองเท้าช่วยป้องกันเท้าตกและข้อเท้าเขย่งในผู้ป่วยใส่ Ring External Fixation” ที่ได้รับรางวัล Routine to Research (R2R) ดีเด่น ระดับนวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์  ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย ครั้งที่ 29

มงคลเล่าถึงเส้นทางชีวิตของตนเองว่า “หากย้อนไปสมัยเด็ก เด็กทุกคนจะถูกตั้งคำถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมเองก็เป็นหนึ่งคนที่มีความฝัน โดยอาชีพที่เราอยากเป็นมากที่สุดตอนนั้นคือ การเป็นครู แต่พอเรียนจบม.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย เนื่องจากที่สถานะทางบ้านที่ไม่พร้อม จึงตัดสินออกมาหางานทำเพื่อแบ่งเบาภาระที่บ้าน ความฝันที่จะเป็นครูก็ต้องเก็บไว้ เพื่อรีบหางานทำให้ได้เร็วๆ ประกอบกับตอนนั้นมีญาติแนะนำให้ลองไปสมัครเป็นผู้ช่วยพยาบาล ตอนนั้นไม่รู้จักอาชีพนี้เลย แต่ก็ไป โดยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาสอบที่โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศิริราช ผลสุดท้ายก็ผ่านการคัดเลือกทั้งสองที่ แต่ตัดสินใจเลือกที่ศิริราช”

เช่นเดียวกับ สุชาติ ใจฉ่ำ เมื่อเอ่ยชื่อนี้หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหู แต่หากบอกว่าเขาคือ “บอล มาสเตอร์เชฟ” หลายๆ คนที่ได้ติดตามรายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย เรียลลิตี้ทำอาหารชื่อดัง คงต้องร้องอ๋อถึงชายหนุ่มมาดกวน ผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียวในบรรดาผู้เข้ารอบ 6 คนสุดท้าย ของรายการ ในซีซั่น 3 ที่เติบโตมาในชุมชนแออัด มีแม่คนเดียวที่คอยหาเลี้ยงบอลและน้องอีก 2 คน บอลเติบโตมาด้วยการช่วยแม่ทำงานไปพร้อมๆ กับเรียนหนังสือ จนตัดสินใจว่าจะไม่เรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพราะอยากช่วยแบ่งเบาภาระแม่

“ในกลุ่มเพื่อนกว่า 10 คน มีผมคนเดียวที่ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย ตอนนั้นได้ฟังคนรอบข้างพูดกรอกหูมาตลอดว่า ถ้าไม่มีใบปริญญา จะทำมาหากินอะไร จะไปหางานดีๆ ที่ไหนได้ อย่างดีก็ไปเป็นลูกจ้างเขา พอได้ยินอย่างนั้นมันก็ยิ่งรู้สึกเจ็บนะ ที่เราต้องเสียโอกาสในการเรียนไป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกถึงขั้นหมดอาลัยตายอยาก สุดท้ายเราก็ทำใจได้ และคิดแค่ว่าไม่เป็นไร เรามีสองมือ สองขาเหมือนคนอื่น เราจะพยายามถีบตัวเองขึ้นไปให้ได้เพื่อวันหนึ่งครอบครัวเราจะได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม”

Career Academies กระบวนการเรียนรู้สู่การพัฒนากำลังคนคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน

สำหรับโครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ (Career Academies) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Chevron Enjoy Science:  สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ระยะที่สอง โดยความร่วมมือของ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education : SEAMEO STEM-ED) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลส่วนภูมิภาค ภายใต้ความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีเป้าหมายหลักของโครงการคือการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ (Career Academies) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่พัฒนาเยาวชนที่ขาดโอกาสสู่การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่เหมาะสมและก้าวทันโลกอาชีพสอดรับกับกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลน อาทิ

ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ ผู้ดูแลคนไข้ ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ดูแลเด็กเล็ก นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักเวชศาสตร์การกีฬา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงด้านคอมพิวเตอร์และไอที อันได้แก่ โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักพัฒนาเว็บไซต์ นักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิก นักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ วิศวกรเครือข่าย นักออกแบบนิทรรศการ นักออกแบบ Special Effect หรือ Visual Effect เจ้าหน้าที่ตัดต่อวีดีโอ โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ สภาวิชาชีพ มหาวิทยาลัย และชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนในการอบรมพัฒนาทักษะด้านอาชีพในสายต่างๆ ด้วยองค์ความรู้ที่บูรณาการความรู้ในทักษะสะเต็มทั้ง 4 สาขา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างทักษะจำเป็นอื่นๆ ในการทำงาน อาทิ ทักษะการสื่อสาร ภาษา และทักษะทางด้านไอที ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกอาชีพ เพื่อผลิตกำลังคนคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองให้ได้เร็วที่สุด

 

Career Academiesช่องทางทำกินทักษะอาชีพ
Comments (0)
Add Comment