กนอ. ฉลองครบรอบ 48 ปี แห่งความสำเร็จ “The Journey of Sustainable Partnership”

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ฉลองครบรอบ 48 ปีอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “48ปี แห่งความสำเร็จ สานต่อนิคมอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน : The Journey of Sustainable Partnership” โชว์วิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาค

ประกาศเดินหน้าแผนปี’64 เน้นสร้างมิติใหม่ในการบริการที่เป็นเลิศ ชูความเป็นองค์กรแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน สอดรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นเกียรติในงานฉลองครบรอบ 48 ปี กนอ. “The Journey of Sustainable Partnership” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Industry Toward 2021” โดยสรุปถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในปี 2564 หลังสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้สอดรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงฯได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายหลายประการที่เป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา(Strategic shift)

ประการแรก คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาอื่นๆ เพื่อขยายผลการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม

ประการที่สอง : การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ช่วยสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากด้วยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและนวัตกรรม (Spring Up) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน

ประการที่สาม : การส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการผ่านโครงการ Factory 4.0 การยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial  Town) การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.เดินหน้าสู่เปาหมายการเป็นผู้นำจัดตั้งและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค ซึ่งกว่า 4 ทศวรรษ กนอ.ได้สร้างฐานการผลิตเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร การสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมถึงมุ่งเน้นนวัตกรรมนำการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งประสบความสำเร็จมาด้วยดีภายใต้เป้าประสงค์ 5 ด้าน ได้แก่

1) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของนิคมอุตสาหกรรม  ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 2) สร้างความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความโปร่งใสในการดำเนินงานของ กนอ. 3) สร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสนับสนุนกลุ่มธุรกิจและพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้และนวัตกรรม พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นความปกติใหม่ (New Normal) 4) พลิกโฉมระบบเทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่องค์กรและนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบ Digital อย่างเต็มรูปแบบตอบสนองความต้องการของลูกค้า เน้นพัฒนาระบบการให้บริการลูกค้า คู่ค้า การบริหารจัดการองค์กรเป็นระบบดิจิทัล และ 5) ยกระดับมาตรฐานการให้บริการสู่สากล ทั้งการให้บริการระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำเร็จของ กนอ.ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่าบนรากฐานของความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทางธุรกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงสมัย ส่งผลให้ กนอ.เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาค เห็นได้จากปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 60 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 46 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,654 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 4,011,699 ล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,085 โรงงาน มีแรงงานสะสม 524,768 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของ กนอ.ในการพัฒนาองค์กรและสร้างบุคลากรทุกระดับที่เน้นสร้างมิติใหม่ให้กับงานบริการที่เป็นเลิศผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรมและผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาให้เศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบระบบคุณค่า 5 E ดุลยภาพแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กนอ.เชื่อมั่นว่าทิศทางการดำเนินภารกิจและการปรับตัวขององค์กรและพนักงาน ด้วยการนำใช้ดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และคล่องตัว มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่ทุกภาคส่วน และการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ดังปณิธานของ กนอ. ที่ตั้งมั่นมาโดยตลอดและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปว่า “ผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

นอกจากส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องแล้ว กนอ.ยังดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่

1.การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่ปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าไปมาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินหน้าก่อสร้างโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนร่วมทุนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่คาดว่าน่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2564 -2567 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

2.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR งานก่อสร้าง ก่อนเสนอคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองและคณะกรรมการ กนอ. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนเผยแพร่ TOR เพื่อให้มีการประกวดราคาและคัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์งานก่อสร้างและควบคุมงาน โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจนได้ผู้รับเหมาก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564

ทั้งนี้ การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะเกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน

3.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศษฐกิจพิเศษ (SEZ) ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดสงขลา เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมและการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นอกเหนือจากการดำเนินงานหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว กนอ.ยังได้พัฒนาการให้บริการด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ  เช่น การยกระดับศูนย์ OSS เดิมไปสู่การเป็นศูนย์ Total Solution Center (TSC) ที่ครอบคลุมการให้บริการทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังการลงทุน ด้วยการปรับปรุงคุณภาพและขยายขอบเขตการให้บริการที่มีอยู่ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ที่กนอ.มุ่งดำเนินการเพื่อสร้างสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน

IndustrysmesStartupsThe Journey of Sustainable Partnershipกนอ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนางสาวสมจิณณ์ พิลึกนายนรินทร์ กัลยาณมิตรนิคมอุตสาหกรรมสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
Comments (0)
Add Comment