ส.ประกันวินาศภัยไทย เผยผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 63 เติบโต 2.5-3.5% ปี 64 คาดเติบโต 0-5.0%  

สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2563 รวม 9 เดือนที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 184,368 ล้านบาท เติบโต 3.9% โดยคาดการณ์ทั้งปี 2563 เติบโต 2.5-3.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 250,000-252,600 ล้านบาท และคาดว่าปี 2564 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 250,000-262,500 ล้านบาท จะเติบโตราว 0-5.0%

โดยการประกันภัยสุขภาพที่ไม่รวมส่วนของการประกันภัย COVID-19 จะมีโอกาสเติบโตมากกว่าการประกันภัยประเภทอื่น ในขณะที่ช่องทางการขายประกันภัยผ่านอินเทอร์เน็ตเริ่มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมแนะบริษัทสมาชิกปรับตัวให้ทันกับยุควิถีใหม่ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อความอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากปัจจัยต่างๆ ทั้งผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง 6.7% อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย รวม 9 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ยังคงมีการเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 184,368 ล้านบาท โดยการประกันภัยแต่ละประเภทยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ในขณะที่การประกันภัยการเดินทางเติบโตติดลบเนื่องจากได้รับผลกระทบทางลบจากการระบาดของโรค COVID-19

ตัวเลขผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2563 ยังคงมีแนวโน้มเติบโต ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของการประกันภัยรถยนต์ (0.2%) การประกันอัคคีภัย (0.5%) การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (2.3%) การประกันภัยเบ็ดเตล็ด (11.3%)

โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่มียอดขายติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ การปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเพิ่มความคุ้มครองของสำนักงาน คปภ. การอุปโภคและการลงทุนของภาครัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การส่งเสริมการประกันภัยของภาครัฐในการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในโครงการประกันภัยพืชผล (โครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อธุรกิจประกันวินาศภัย

ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในปีนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การประกันภัยสุขภาพ เติบโตเพิ่มขึ้น (60%) ในขณะที่การประกันภัยการเดินทางเติบโตติดลบเป็นอย่างมาก (-61.4%) โดยจากข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 พบว่า การประกันภัย COVID-19 นั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 4,102.5 ล้านบาท หรือเท่ากับ 1.6% ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมของการประกันภัยทุกประเภท และมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 รวมทั้งสิ้น 7.5 ล้านกรมธรรม์

ส่วนโครงการประกันภัยพืชผล (โครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) นั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 4,084.32 ล้านบาท คิดเป็น 1.6% ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมของการประกันภัยทุกประเภท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยข้าวนาปีรับรวม 3,758.64 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รับรวม 325.68 ล้านบาท

ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยโดยรวม ณ ไตรมาส 3 ของปี 2563 นั้น ช่องทางขายผ่านนายหน้า (Broker) ยังคงเป็นช่องทางที่ทำรายได้ให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยมากที่สุด โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากช่องทางนี้สูงถึง 109,097 ล้านบาท (58%) รองลงมาคือ ช่องทางขายผ่านตัวแทน (Agent) 25,711 ล้านบาท (14%) ช่องทางขายผ่านธนาคาร (Bancassurance) 22,230 ล้านบาท (12%)

ที่เหลือเป็นการขายผ่านช่องทางอื่นๆ ซึ่งยังไม่ได้เป็นช่องทางการขายที่เติบโตมากนัก ยกเว้นช่องทางการขายผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งแม้จะมีส่วนแบ่งในการสร้างเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่องทางการขายอื่น แต่กลับพบว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 794 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 249% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ประเภทการประกันภัยรถยนต์และการประกันภัยสุขภาพสามารถขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนมาก

สำหรับภาพรวมอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของประกันวินาศภัยทุกประเภท ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 54.3% โดยการประกันภัยรถยนต์ยังคงเป็นการประกันภัยที่มีอัตราความเสียหายสูงกว่าการประกันภัยประเภทอื่น โดยมีอัตราความเสียหาย 61.5% อย่างไรก็ตาม อัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์ ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบทางบวกจากมาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) และเคอร์ฟิว (Curfew) เพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ในช่วงต้นปีของรัฐบาล ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่สัญจรบนท้องถนนลดลง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้การเกิดอุบัติเหตุรถยนต์โดยรวมลดลง

ส่วนแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2563 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.5-3.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 250,000-252,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เกิดการใช้จ่าย การผลิต การจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้มีการขยายตัวของการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งกำลังซื้อรถยนต์บางส่วนในช่วงปลายปีจากโปรโมชั่นในงานมหกรรมยานยนต์

สำหรับปี 2564 นั้น คาดการณ์ว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ซึ่งมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงแต่ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวขึ้นภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ภาคการส่งออกและภาคการผลิต การประมาณการยอดขายรถยนต์ใหม่ที่น่าจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา

ตลอดจนแนวโน้มที่ดีในเรื่องของความตื่นตัวในการป้องกัน COVID-19 ของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้การเดินทางและท่องเที่ยวฟื้นตัว ในขณะเดียวกันประชาชนเริ่มมีความรู้และมีความคุ้นเคยกับการทำประกันภัยสุขภาพเพื่อบริหารความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งหมดนี้ทำให้คาดการณ์ว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2564 จะมีโอกาสขยายตัวประมาณ 0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 250,000-262,500 ล้านบาท

โดยในปี 2564 การประกันภัยสุขภาพไม่รวมส่วนของการประกันภัย COVID-19 น่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นจากความตื่นตัวในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ในขณะที่การประกันภัย COVID-19 อาจจะเติบโตลดลงหรือหดตัว ส่วนการประกันภัยการเดินทางจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563

อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้าน อาทิ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศและต่างประเทศ (มีการระบาดลดลง หรือมีการระบาดระลอกใหม่) ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 และการเข้าถึงวัคซีน มาตรการการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal) นั้น มีสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระเบียบและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการปรับตัวของธุรกิจ การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนภัยพิบัติและความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) การฉ้อฉลประกันภัยในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใหม่ที่เรียกว่า VUCA World” ซึ่งเป็นโลกที่มีความผันผวนสูง ยากต่อการคาดเดา ไม่ทันตั้งตัว (Volatility) มีความไม่แน่นอนสูง ขาดความชัดเจน (Uncertainty) มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ (Complexity) มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนสูง ยากที่จะคาดเดาผลลัพธ์ (Ambiguity) ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยที่จะอยู่รอดได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทบทวนตัวเอง และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

บริษัทประกันวินาศภัยจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงานของบริษัทใหม่ ทั้งระบบการทำงานภายใน การขาย การให้บริการ โดยต้องมุ่งเน้นการนําอินชัวร์เทค (InsurTech) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางาน ลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เน้นการพัฒนาทักษะและศักยภาพบุคลากรแบบ RUN (Reskill / Upskill / New Skill) เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับโลกสมัยใหม่ สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัด CEO Forum และการอบรมสัมมนาในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยในโลกยุคใหม่เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันวินาศภัยในทุกระดับมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทสมาชิกเพื่อรองรับกับสถานการณ์ของธุรกิจประกันวินาศภัยที่กำลังก้าวเข้าไปสู่โลกใหม่อย่างรวดเร็วนั่นเอง

นอกจากนี้ ในปี 2564 สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการจัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยได้คัดเลือกจังหวัดปทุมธานี ให้เป็นจังหวัดนำร่องและต้นแบบในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ในเบื้องต้นสมาคมฯ ได้เข้าพบกับนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เพื่อนำเสนอโครงการและร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีแนวทางการดำเนินการร่วมกัน ดังนี้

1.โครงการรณรงค์สวมหมวกกันน็อค 100% ในพื้นที่โรงงาน สถานประกอบการ โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ โดยการจำหน่ายให้กับประชาชนได้ซื้อและสวมใส่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด 2.การจัดทำวงเวียนเพื่อลดอุบัติเหตุตามจุดเสี่ยงต่างๆ โดยการสำรวจจุดเสี่ยงและแยกอันตรายเพื่อปรับเปลี่ยนสี่แยกอันตรายเป็นวงเวียนที่ปลอดภัยในการช่วยลดอุบัติเหตุ และ 3.ปรับปรุงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนผ่าน www.Thairsc.com ของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ให้มีความน่าสนใจ และเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำข้อมูลไปใช้อ้างอิงและเกิดประโยชน์ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุได้ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวนี้ ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเป็นที่น่าพอใจจะได้ดำเนินการขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป