แม็คโคร ผนึก กรมอนามัย-อย. สร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยอาหารสด พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังขั้นสูงสุด

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หนุนมาตรการป้องกันโควิด-19 เชิงรุก บูรณาการภาครัฐ กรมอนามัยและ อย. สร้างความเชื่อมั่นอาหารสดปลอดภัย ยกระดับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังขั้นสูงสุด ตอกย้ำผู้นำอาหารสด และสถานประกอบการปลอดภัยไร้โควิด-19 รองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ช่วงการระบาดรอบล่าสุด

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศ แม็คโครได้วางแผนเชิงรุกในการยกระดับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังขั้นสูงสุด โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมอนามัย และ อย. ในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมวางมาตรการเสริมเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจในช่วงการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของสินค้าอาหารสด อาหารทะเล แม็คโครได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่การผลิตและจัดจำหน่าย เพื่อให้ถึงมือผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างปลอดภัย

“ในสถานการณ์ที่พี่น้องประชาชนมีความกังวลกับการระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิด-19 และความปลอดภัยในอาหารทะเล แม็คโครได้เพิ่มดีกรีการเฝ้าระวังและป้องกันตลอดกระบวนการ เพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการรับและตรวจสอบที่ศูนย์กระจายสินค้า กำหนดแนวปฏิบัติเร่งด่วนในการงดรับสินค้าอาหารทะเลสดที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนอาหารทะเลแช่แข็งแม็คโครเพิ่มความถี่ในการตรวจเข้มทุกโรงงาน เพิ่มการฆ่าเชื้อตลอดกระบวนการผลิต อุปกรณ์บรรจุต่างๆ ทุกวัน รวมทั้งเข้มงวดสุขอนามัยในการขนส่ง ซึ่งคู่ค้าทุกราย ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด”

โดยปกติแม็คโครให้ความสำคัญในการเข้มงวดมาตรการอาหารปลอดภัย 5 ประการ ประกอบด้วย การคัดเลือกจากแหล่งปลอดภัยผู้ผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน, การตรวจสอบคุณภาพและยืนยันความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025, การจัดส่งสินค้าด้วยระบบปิดควบคุมอุณหภูมิตลอดทั้งกระบวนการ, การควบคุมการจัดจำหน่ายสินค้าตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยของอาหาร ISO 22000 และตรวจสอบกลับได้ถึงแหล่งที่มาของสินค้า (Traceability)

ขณะที่ยังคงดำเนินมาตรการหลักในการป้องกันโควิด-19 ตามแนวทางที่ได้รับจากภาครัฐอย่างเข้มข้น ควบคู่กับมาตรการเสริมของแม็คโคร อาทิ การรักษาระยะห่าง (Social distancing) ด้วยการกำหนดจำนวนลูกค้าเข้าสาขา (1 คนต่อ 5 ตารางเมตร) โดยการนับจำนวนคนเข้า-ออก และรายงานจำนวนคนภายในสาขาเป็นระยะ พร้อมจัดที่นั่งรอห่างกัน 1 เมตรด้านหน้าสาขา เมื่อปริมาณคนในสาขาเกินจำนวนที่กำหนด

ตีเส้นรักษาระยะห่างที่พื้น (Social distancing grid) เป็นสัญลักษณ์ในจุดที่มีความหนาแน่น เช่น แผนกอาหารสด และจุดชำระเงิน, การจัดทีมรักษาระยะห่าง 3-5 คนต่อสาขา คอยประกาศย้ำเตือนในการรักษาระยะห่างในขณะเลือกซื้อสินค้า พร้อมด้วยการรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตักอาหารสด เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังเน้นบริการชำระเงินแบบ Cashless payment ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเงินสดอีกด้วย

“แม็คโคร คำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานเป็นสำคัญ เราจึงดำเนินมาตรการทุกวิถีทางในการยกระดับมาตรการตามแนวทางของ หน่วยงานสาธารณสุขระดับประเทศ เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ต่อสู้กับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ไปด้วยกัน” นางศิริพร กล่าว