ธ.ก.ส. ออกมาตรการช่วยเกษตรกรรับมือปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยพักชำระหนี้ 6 เดือน – 1 ปี ให้กับเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) องค์กร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ) ที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่ภาครัฐจะประกาศเพิ่ม พร้อมขยายเวลาเปิดรับคำขอสินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 10,000 บาท และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.baac.or.th
โดยธนาคารจะดำเนินการ 1) พักชำระต้นเงินสำหรับเกษตรกร 1 ปี 2) พักชำระต้นเงินผู้ประกอบการ SMEs สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ระยะเวลา 6 เดือน กรณีเป็นสินเชื่อใหม่ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2564 ให้พักชำระต้นเงินสินเชื่อฉุกเฉินโควิด-19 ที่ถึงกำหนดชำระออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงพักชำระต้นเงินสินเชื่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบออกไปอีก 1 ปี
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระลอกใหม่ ในภาพรวม ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อดังกล่าวได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
และสนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อนำไปลงทุนและฟื้นฟูการผลิต ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (ทั้งนี้คณะกรรมการธนาคารจะให้การอนุมัติสินเชื่อฉุกเฉินและสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำก่อนการเปิดให้บริการภายในเดือนมกราคม 2564)
นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดยกรณีเป็นเกษตรกร ทันทีที่ชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 5,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินแห่งละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ
ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกร จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 รวมทั้งยังจัดทำมาตรการเพื่อผ่อนคลายภาระหนี้ โดยการบริหารจัดการหนี้และขยายเวลาการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ ทั้งในส่วนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นการดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของกระทรวงสาธารณสุข ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมช่องทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการกับ ธ.ก.ส. โดยสามารถแสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้(ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม) ได้ผ่าน LINE Official BAAC Family เว็บไซต์ www.baac.or.th Call Center 0 2555 0555 และ ธ.ก.ส. พื้นที่ 28 จังหวัด
สำหรับสินเชื่อฉุกเฉินสามารถส่งคำขอได้ทาง LINE Official BAAC Family สินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบและสินเชื่อ SMEs (Soft Loan ธปท. ระยะที่ 2 สามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และกรณีสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพและสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สามารถติดต่อได้ทั้งทาง LINE Official BAAC Family และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และหลังจากรับเรื่องแล้ว ธ.ก.ส. จะนัดหมายเพื่อทำสัญญา ณ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ภูมิลำเนาของลูกค้า
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายการอนุมัติสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ขอใช้บริการดังกล่าว ดังนั้น ขอให้โปรดระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่นอกเหนือจากช่องทางที่ ธ.ก.ส. กำหนด