ธนาคารไทยพาณิชย์ผลักดันธุรกรรมกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank) และธุรกรรมกู้ยืมโดยมีสัญญาว่าจะซื้อคืน (Reverse Repo) โดยอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลาข้ามคืน THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) กับ 2 สถาบันการเงินของไทย นับเป็นธุรกรรมกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินรายการแรก ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ระบบการเงินไทย
นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พัฒนาดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลาข้ามคืน THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ที่สะท้อนภาวะอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์จึงพยายามนำอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาพัฒนาและใช้กับผลิตภัณฑ์การเงินที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายของ ธปท. และเพื่อให้เกิดการกู้ยืมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ให้แพร่หลายมากขึ้น
โดยธนาคารไทยพาณิชย์ประสบความสำเร็จในการทำ 2 ธุรกรรมการเงินอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ครั้งแรกในตลาดการเงินไทย ประกอบด้วย
1.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ธนาคารฯ ได้เข้าทำธุรกรรมกู้ยืมระหว่างธนาคาร (interbank market) อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR กับ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
2.เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ธนาคารฯ ได้เข้าทำธุรกรรมกู้ยืมโดยมีสัญญาว่าจะซื้อคืน (Reverse Repo) อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR กับ ธนาคารกสิกรไทย
“ทั้ง 3 ธนาคารมีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR จึงได้เกิดธุรกรรมที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้แก่ตลาดการเงิน ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. ในการยกระดับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของไทย ซึ่งการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR จะสนับสนุนให้ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ และการบริหารสภาพคล่องเป็นไปอย่างมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังมีส่วนช่วยให้ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นายมาณพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย THOR ออกสู่ตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในปีนี้จะเห็นธุรกรรมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ของธนาคารไทยพาณิชย์มากขึ้น ตามความพร้อมและความต้องการของสถาบันการเงินคู่ค้า