ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศ คปภ. เรื่อง ให้บริษัทประกันชีวิตยื่นรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย พ.ศ. 2563 และประกาศ คปภ. เรื่อง ให้บริษัทประกันวินาศภัย ยื่นรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย และรายงานพฤติกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้สำนักงาน คปภ. มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบพฤติกรรมและลักษณะของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และสามารถกำหนดแนวทางในการยับยั้ง ป้องกัน ตรวจสอบ รายงาน และบรรเทาความเสียหายจากการฉ้อฉลประกันภัย
อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ ประกาศ คปภ. ทั้งสองฉบับกำหนดให้ต้องมีการออกประกาศนายทะเบียน เพื่อกำหนดแบบรายงานพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัยด้วย
สำนักงาน คปภ. จึงได้ดำเนินการยกร่างประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. ….. และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. ….. โดยได้นำร่างประกาศนายทะเบียนฯ ดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้แก่ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เป็นคณะทำงาน และได้นำร่างประกาศนายทะเบียนฯ ดังกล่าวออกรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป
ทั้งนี้ ภายหลังการปรับปรุงร่างประกาศนายทะเบียนฯ ตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจประกันภัยต่างๆ ได้จัดประชุมคณะทำงานฯ อีกครั้ง จนได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งต่อมานายทะเบียนได้ลงนามในประกาศทั้งสองฉบับ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 แล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศนายทะเบียนทั้งสองฉบับ คือ ประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2564 และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงานพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 มีดังนี้
กำหนดกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้เอาประกันภัย หรือบุคลากรภายในบริษัท หรือตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย มีพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย โดยกำหนดให้บริษัทรายงานพฤติกรรมดังกล่าวต่อสำนักงาน คปภ. ภายในสามสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส ซึ่งการส่งรายงานตามประกาศนี้ในครั้งแรกจะเริ่มให้บริษัทนำส่งภายในวันที่ 30 เมษายน 2564 ทั้งนี้ หากบริษัทพบพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยหรือสาธารณชน บริษัทต้องรายงานต่อสำนักงาน คปภ. โดยไม่ชักช้า
สำหรับช่องทางการรายงานนั้น สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (Center of InsurTech Thailand: CIT) พัฒนาช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัยผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. โดยที่บริษัทไม่ต้องจัดทำแบบฟอร์มรายงานเป็นกระดาษเพื่อนำส่งต่อสำนักงาน คปภ. เพียงแค่กรอกข้อมูลการรายงานตามที่ประกาศนี้กำหนดบนเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอน และต้นทุนการจัดทำรายงานของบริษัท
“จากสาระสำคัญของประกาศนายทะเบียนฯ ดังกล่าว จะช่วยป้องกันการทุจริตในระบบประกันภัยโดยทำให้การกำกับดูแลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ พฤติกรรม และลักษณะของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. จะประสานกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อสร้างบทบาทเชิงรุกในการกำกับดูแลการฉ้อฉลประกันภัยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการฉ้อฉลประกันภัย มิได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เบี้ยประกันภัยโดยรวมสูงขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ที่ใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งประกาศนายทะเบียนฯ ฉบับดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือช่วยป้องปรามและตรวจสอบการฉ้อฉลประกันภัยทุกรูปแบบ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย