เปิดมุมมองของผู้เชี่ยวชาญจากภาคการเงิน การลงทุน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจาก งานสัมมนา “THE WISDOM The Symbol of Your Vision: 2021 Economic Outlook & Investment Forum” โดยเดอะวิสดอมกสิกรไทยชี้ “วัคซีนโควิด-19” เป็นความหวังในการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก หลังหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อคดาวน์และอาจจะเปิดประเทศได้ในเร็วๆ นี้ แต่ยังคงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน รวมถึงการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนที่เริ่มทรงอิทธิพลในเวทีการค้าโลก
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยเริ่มส่งสัญญาณบวก ภาคการท่องเที่ยวยังต้องติดตามและบริหารจัดการก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์จากวัคซีน COVID-19 อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวของไทยจะเริ่มค่อยๆ กลับมาอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่ความร้อนแรงของการลงทุนสกุลเงินดิจิทัลยังคงต้องจับตาเพราะมีความผันผวนสูง
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์นับจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องบริหารจัดการทั้งการควบคุมการระบาด การฉีดวัคซีนให้กับประชากรในแต่ละประเทศจนถึงขั้นสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) การเปิดประเทศและการบริหารจัดการความพร้อมในด้านต่างๆ สำหรับเศรษฐกิจโลก การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คงจะมีผลให้ทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวให้ปรับขึ้น เช่นเดียวกับการคาดการณ์ว่าเฟดอาจถอยออกจากนโยบายผ่อนคลายการเงินเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยอาจเป็นภายในปี 2565 ส่วนราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ ควบคู่กับการปรับลดกำลังการผลิตของตะวันออกกลาง ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ กลับไม่ได้ส่งผลดีต่อราคาทองคำ ทิศทางดังกล่าว รวมถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจ ประเด็นวัคซีน และการผลักดันมาตรการต่างๆ ของทางการไทย ย่อมมีผลต่อแนวโน้มผลตอบแทนตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าเช่นกัน
ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ภาคธุรกิจเริ่มมีภูมิคุ้มกันและปรับตัวจากการระบาดของไวรัสในรอบแรกได้ ในภาพรวมแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2020 หดตัวที่ -3.5% จากโควิด-19 และการใช้มาตรการปิดเมือง ขณะที่ปี 2021 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 5.5% จากวัคซีนที่แพร่หลายมากขึ้น รวมถึงการใช้มาตรการสนับสนุนทางการเงินการคลังอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปี 2021 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวหลังหดตัวสูงในปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจมีความไม่เท่าเทียม และหลายสาขาได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่พอควร โดยอุตสาหกรรมที่มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ ภาคการส่งออกและภาคการผลิตส่วนอุตสาหกรรมที่มีโอกาสฟื้นตัวช้า ได้แก่ ภาคท่องเที่ยวและบริการ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด ทำให้ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยเหลือเพียง 6.69 ล้านคน ลดลง 83% มีรายได้การท่องเที่ยวรวมปิดที่ 8.12 แสนล้านบาท ลดลง 73% โดยมองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย คือ การฉีดวัคซีนของทั่วโลกที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ (Vaccine is game changer.) สิ่งที่ต้องบริหารจัดการคือ นโยบายวัคซีนพาสปอร์ต ที่ต้องคำนึงหลายปัจจัยทั้งการติดตามนโยบายการเปิดประเทศของแต่ละประเทศ และความพร้อมของประเทศไทย เช่น มาตรการความปลอดภัยต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่า หากประเทศไทยสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศประมาณ 6.5 ล้านคน ประเมินการใช้จ่ายอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท (รวมนักท่องเที่ยวไทย) โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่จะเดินทางเข้ามาได้ก่อนกลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียนและเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่ยังคงเข้มงวดและหันมาเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศแทน
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงนโยบายสำคัญของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯและจีนหลังการระบาดของโควิด-19 ว่าทั้ง 2 ประเทศต่างมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเอง เห็นได้ชัดจากนโยบาย ‘Buy American’ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เร่งพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศมากขึ้น ลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศ นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นความเคลื่อนไหวน่าจับตาคือ ดุลอำนาจในเวทีโลกนอกจากสหรัฐฯกับจีนแล้ว ยังมีสหภาพยุโรป และภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเติบโต ซึ่งประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดรับกับกฎระเบียบต่างๆ และหาหนทางเพิ่มแต้มต่อของข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ รวมถึงควรมีนโยบายหลักของประเทศให้ภาคส่วนต่างๆ ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์เช่นนี้ได้
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย ร่วมแชร์มุมมองการลงทุนว่า แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสแต่โดยรวมแล้วตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ยังคงมีสภาพคล่องอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านเหรียญของสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมากระแสการลงทุนในเงินดิจิทัล อย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) และคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) กำลังมาแรงอย่างมากสำหรับนักลงทุนรายย่อย อย่างบิทคอยน์ในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงถึง 540% สาเหตุคาดว่ามาจากมีนักลงทุนที่มีชื่อเสียงและนักลงทุนสถาบันเริ่มสนใจลงทุนในบิทคอยน์มากขึ้น และการลงทุนมีการเข้าถึงได้ง่าย แต่ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการลงทุนเนื่องจากเงินดิจิทัลไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงและผันผวนสูง ผู้ลงทุนต้องสามารถยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ จึงควรลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม สำหรับสินทรัพย์ที่มองว่ายังสามารถหาจังหวะลงทุนได้ คือ ทองและน้ำมัน