อพท. ดัน ‘สุโขทัย’ ติดลมบน ‘เมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์’

อพท. ผลักดัน “สุโขทัย” ขึ้นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เน้นชุมชนได้ประโยชน์ มีรายได้และมีส่วนร่วม ตอกย้ำการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ปีนี้เตรียมเสนอ “ตำบลเมืองเก่า” ขึ้นแหล่งท่องเที่ยว TOP 100 พร้อมจัดทำหลักสูตร “เมืองสร้างสรรค์” บรรจุในแผนการเรียนการสอนเยาวชนในพื้นที่ เป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้โตกว่าร้อยละ 50

นายอนันต์ ชูโชติ ประธานคณะกรรมการ อพท. (บอร์ด) เปิดเผยว่า จากแผนการพัฒนาจังหวัดสุโขทัยให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบกับในปี 2562 สุโขทัยยังได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ดังนั้น นับจากนี้ต่อไป อพท. จะต่อยอดการพัฒนาโดยมีเป้าหมายครอบคลุม 2 ประเด็นสำคัญ คือ การยกระดับเมืองและชุมชนให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาตร์สุโขทัย อพท. มีแผนดำเนินงานตลอดปี ประกอบด้วย 1. การยกระดับสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตำบลเมืองเก่า สุโขทัย โดยจะมุ่งเสริมความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรม 2. ลดผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การศึกษาระบบนิเวศของอุทยานประวัติศาสตร์และชุมชนโดยรอบ เนื่องจากพบว่ามีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชน  และการศึกษาความเสี่ยงของคุณภาพอากาศในแหล่งท่องเที่ยว ทั้งค่าคาร์บอนที่ปล่อยจากยานพาหนะ และค่า PM 2.5 ซึ่งมีผลกระทบกับสุขภาพของชุมชนและนักท่องเที่ยว และ 3. การจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะและการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งหากพบประเด็นความเสี่ยงในด้านใด ก็จะนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเป็นประธาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขในลำดับต่อไป

ผลักดันเมืองเก่าขึ้น TOP 100

นายอนันต์ ชูโชติ
ประธานคณะกรรมการ อพท. (บอร์ด)

ทั้งนี้ การพัฒนาและการจัดการดังกล่าวเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของชุมชนและเพื่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัย เนื่องจากตำบลเมืองเก่าเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี การทำงานของ อพท. จึงต้องการ ให้พื้นที่แห่งนี้มีการจัดการเป็นมาตรฐานระดับสากลและเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ และในปีงบประมาณ 2564 อีกเช่นกันที่

อพท. มีแผนนำเสนอ ตำบลเมืองเก่า เข้ารับเป็นสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (Sustainable Destinations Top100)  โดยใช้เกณฑ์ Green Destination Standard พิจารณาตัดสิน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับเป็น TOP 100 จะเข้ารับมอบรางวัล “แหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ดีเยี่ยม 100 แห่งของโลก” ที่งาน ITB ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการส่งเสริมการขายระดับโลก ที่เป็นเวทีการเจรจาซื้อขายแพคเกจการท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก เท่ากับจะได้สร้างการรับรู้ให้กับผู้แทนการขายที่มาร่วมงาน และได้ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนมาตรฐานระดับโลก ที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะวางแผนการเดินทางเข้ามาเที่ยวชมต่อไป

ทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ

พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร หรือ อพท.4 ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษในปี 2554 ซึ่งดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2556-2565 ครอบคลุมพื้นที่ 20 ตำบลรอบอุทยานประวัติศาตร์ทั้งสามแห่ง ดังนั้น ในปีนี้จึงมีการทบทวนแผนเดิม และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565-2570 ขึ้น ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เน้นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชุมชน ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยด้านเศรษฐกิจจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่คำนึงถึงความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม มีการกำหนด zoning ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์

ทั้งนี้ มีแผนที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนแบบ Public Private Partnership (PPP) เพื่งแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและก่อให้เกิดรายได้ต่อรัฐทางตรงในรูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยพิจารณากลุ่มผู้ลงทุนที่มีความสนใจและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มรดกของชาติ ทั้งโบราณและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากดำเนินงานโครงการได้ตามแผนฉบับใหม่นี้จะมีการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้เพิ่มขึ้น คาดว่าแนวโน้มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 รายได้จากการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยจะเกิดขึ้นประมาณ 6,455 ล้านบาท

ผลิตหลักสูตร “เมืองสร้างสรรค์” สอนเยาวชน

ประธานบอร์ด อพท. กล่าวต่ออีกว่า ผลจากที่ “สุโขทัย” ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก อพท. ยังต่อยอดด้วยการจัดทำหลักสูตร “สุโขทัยเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน” ดำเนินการโดย อพท. 4 ร่วมมือกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุโขทัย  ซึ่งเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ มีความเข้าใจ รู้สึกหวงแหน เห็นถึงคุณค่าหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของสุโขทัย สามารถผลิตงานหัตถกรรมได้ และสามารถสร้างสรรค์สู่อาชีพได้ ประกอบด้วย  9 หมวด ได้แก่ เครื่องสังคโลก ผ้าทอ เครื่องเงินเครื่องทองลายโบราณ งานจักสาน/ไม้แกะสลัก งานใบตอง อาหารพื้นบ้าน ลายสือไทย ทัศนศิลป์และงานศิลปะพื้นบ้าน และดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน โดยบรรจุหลักสูตรดังกล่าวในการสอนตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัยจนถึงระดับอาชีวศึกษา ล่าสุดจับมือกับสถานศึกษา 47 แห่งในจังหวัด เพื่อนำร่องโครงการนี้

“นอกจากนั้น อพท. ยังจัดทำหลักสูตรระยะสั้น Sukhothai Art and Crafts Live and Learn  เพื่อเรียนรู้ทำงานศิลปะและหัตถกรรม หลักสูตรนี้ออกแบบให้ชุมชนมีส่วนร่วมและมีรายได้เพิ่ม เพราะผู้เข้าอบรม จะเข้าพักในโฮมสเตย์ ฟาร์มสเตย์ โดย อพท. จะพัฒนารูปแบบกิจกรรม พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ความพร้อมด้านที่พัก การทดสอบกิจกรรม และประเมินผล โดยมีชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญางานหัตถกรรม และเกิดการสร้างรายได้ในชุมชน”

ตั้งเป้าปี 64 รายได้โตกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่จะปรับเปลี่ยนไปตามการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New normal) อพท. ยังได้เตรียมแผนการรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จบสิ้นลง ด้วยการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA (Safety and Health Administration) ให้แก่ชุมชนในพื้นที่สุโขทัย ล่าสุดมีชุมชนที่ได้รับมาตรฐาน SHA แล้วรวม 12 แห่ง และในระหว่างที่รอการฟื้นตัวนี้ อพท. ยังได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกของชุมชนบนแพลตฟอร์ม Smart DASTA และแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ในช่องทางต่างๆ รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี 2564 ชุมชนในเขตมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร ตาก และพิษณุโลก ที่ อพท. ดูแลอยู่ จะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เป็น 17.3 ล้าน เติบโตกว่าร้อยละ 54 จากปี 2563 ซึ่งชุมชนในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 11.2 ล้านบาท

ผนึกยูเนสโกใช้ VMAT จัดการแหล่งท่องเที่ยว

ประธานบอร์ด อพท. กล่าวถึงความร่วมมือกับยูเนสโกในปีงบประมาณ 2564 นี้ว่า อพท. ยังได้ร่วมมือกับองค์การยูเนสโก UNESCO สำนักงานกรุงเทพมหานครและสำนักงานกรุงปารีส  นำเครื่องมือการประเมินการจัดการนักท่องเที่ยว (Visitor Management Assessment Tool: VMAT) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกและพื้นที่พิเศษ โดยนำร่องแห่งแรกที่พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ซึ่ง อพท. ถือเป็นหน่วยงานแห่งแรกของประเทศไทยที่นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ดำเนินการ นอกจากนั้นทางสำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ยังเลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้เรียนรู้เครื่องมือตัวใหม่ที่องค์การยูเนสโกคิดค้นขึ้นเพื่อบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน

“จากความร่วมมือดังกล่าว อพท. จึงได้รับเกียรติจากยูเนสโก ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสร้างการรับรู้เครื่องมือ VMAT  ทั้งในระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ในระดับอาเซียน คาดว่าจะจัดในปลายปี 2564  และในระดับเอเปค ที่จะจัดขึ้นในปี 2565  ซึ่งการได้รับเกียรติของประเทศไทยครั้งนี้เท่ากับได้สร้างให้ประเทศต่าง ๆ ได้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั่นเอง”

สำหรับโปรแกรม VMAT เป็นเครื่องมือในการสร้างแนวทางการบริหารจัดการการท่องเที่ยวสำหรับแหล่งมรดกโลก ซึ่งมีประโยชน์ในการนำมาใช้ คือ เพิ่มพูนความเข้าใจและสามารถติดตามผลและเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของการจัดการนักท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวได้ดีขึ้น สร้างกิจกรรมที่สมเหตุสมผล ปรับปรุงการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว เสริมสร้างบุคคลและสถาบัน  ต่อยอดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ VMAT จัดเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์การพัฒนาในอนาคต เพราะมีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่ และให้ความสำคัญกับระบบการจัดการนักท่องเที่ยวที่มีบริบทสภาพแวดล้อมที่หลากหลายนำไปสู่การบูรณาการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่ง อพท. จะพิจารณาให้แต่ละสำนักงานพื้นที่พิเศษ นำ VMAT ไปผลักดันใช้ในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสมต่อไป