สถาบันการเงินของรัฐ หนุนมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการ  

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (The Government  Financial Institutions Association : GFA) พร้อมให้การสนับสนุนธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบผ่าน “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)” วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ผ่าน 2 มาตรการ มั่นใจสามารถช่วยเหลือและฟื้นฟูให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งได้อย่างแน่นอน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ(GFA) เปิดเผยว่า สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งมีความพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ในการจัดทำความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบตามร่าง “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)” วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันนี้(23 มีนาคม 2564) โดยถือเป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสถาบันการเงินของรัฐจากการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแก่ลูกหนี้ผ่าน พ.ร.ก. Soft Loan ที่ดำเนินการในปี 2563 มาจัดทำเป็นมาตรการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ เพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงาน และฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินกิจการหลังวิกฤต COVID-19  ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบเป็นอย่างมากให้แก่ลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐในกลุ่มที่รายได้ยังไม่แข็งแรง โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ

1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ ให้เข้าถึงสินเชื่อ พร้อมรองรับการฟื้นตัว ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินให้กู้ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความเชื่อมั่นด้วยการสนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อรวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และมี ธปท. ส่งเสริมสภาพคล่องต้นทุนต่ำให้แก่สถาบันการเงินดำเนินการต่อไป

2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ให้สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ และในอนาคตสามารถขอเช่าทรัพย์กลับไปดูแลหรือเปิดดำเนินการต่อได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์หรือหลักประกัน กลับมาสร้างงาน สร้างรายได้เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยมี ธปท. สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงิน และภาครัฐสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีและค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์

ทั้งนี้ CEO ของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งได้ conference call กับ ธปท. เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการฟื้นฟูฯ ในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือลูกค้าประชาชนโดยเร็วที่สุดต่อไป เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกหลักที่จะส่งเสริม ช่วยเหลือ และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากในปี 2563 สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 10.89 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 3.65 ล้านล้านบาท ผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งการพักชำระหนี้  ลดดอกเบี้ย ลดเงินงวดผ่อนชำระ ขยายระยะเวลากู้ ให้สินเชื่อเพิ่มเติม และค้ำประกันสินเชื่อ