นับวันปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะยิ่งทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคนกรุงฯ รวมทั้งประชาชนคนไทยในหลายภูมิภาคทั่วประเทศไทย ซึ่งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ในฐานะศูนย์กลางการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับทุกชีวิต จึงมีความพยายามในการร่วมกันหาทางออกของปัญหาดังกล่าว ได้คิดค้นและวิจัยพัฒนานวัตกรรม หอฟอกอากาศระดับเมือง “ฟ้าใส” ตัวแรก (Fahsai)” ขึ้นและติดตั้งบริเวณ 101 True Digital Park ในปี 2563
และในปีนี้ RISC by MQDC ก็ไม่หยุดยั้งในการพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นมากในปัจจุบัน จึงได้เปิดตัวฟ้าใส รุ่นที่ 2 หรือ “ฟ้าใส 2 (Fahsai 2)” หอฟอกอากาศระดับเมืองเพื่อประชาชน เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเชื้อโรคในอากาศ
RISC by MQDC มีความตั้งใจที่จะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับทุกชีวิต ซึ่งผลงานวิจัยที่ออกมาไม่ใช่เพื่อนำมาใช้เฉพาะกับโครงการของ MQDC เท่านั้น แต่เราเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกนำงานวิจัยของ RISC by MQDC ไปต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้นเราจึงได้พัฒนาและสร้างหอฟอกอากาศระดับเมืองหรือ “ฟ้าใส รุ่นแรก” ขึ้นในปี 2563 โดยต่อมา เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID -19) เริ่มระบาด จึงคิดและวิจัยต่อทันที จนเกิดเป็น ‘ฟ้าใส 2’ ที่สามารถเพิ่มการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ ซึ่งเราตั้งใจพัฒนาใหม่ ให้ทันต่อสถานการณ์ และได้ทำการทดลองและพัฒนาประสิทธิภาพจนได้เป็นที่น่าพอใจ โดยหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนี้สำหรับหลายๆ พื้นที่ต่อไป
“ฟ้าใส 2 (Fahsai 2) นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจและความภาคภูมิใจของ RISC by MQDC ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ทันต่อเหตุการณ์และปัญหาในปัจจุบัน และยังเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ และฝุ่น PM 2.5 และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่อย่างยั่งยืนตามแนวทาง ‘นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน’ ของ RISC by MQDC” นายณพล กล่าว
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด พร้อมด้วย RISC by MQDC ได้นำฟ้าใส 2 (Fahsai 2) หอฟอกอากาศเพื่อประชาชน ไปติดตั้งที่ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ซึ่งเป็นบริเวณหนึ่งที่พบปัญหา PM 2.5 ค่อนข้างมาก จากสภาพการจราจรที่หนาแน่น และยังเป็นจุดที่มีประชาชนเข้ามาใช้บริการทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประมาณ 10,000 คนต่อวัน