“โควิด-19” ตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สู่การชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ

  • 96% ของผู้บริโภคชาวไทยมีแผนใช้จ่ายด้วยวิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่ในปีนี้
  • ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกชื่นชอบการใช้จ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด ดิจิทัลวอลเล็ต และสกุลเงินคริปโต

ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดวิธีการชำระเงินที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้นในประเทศไทย โดย 96% ของชาวไทยจะพิจารณาใช้วิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่อย่างน้อยหนึ่งวิธีในปีหน้า เช่น คิวอาร์โค้ด กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ การผ่อนชำระ สกุลเงินคริปโต เทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ ฯลฯ อ้างอิงจากดัชนีผลสำรวจวิธีการชำระเงินวิถีใหม่ของมาสเตอร์การ์ด (Mastercard New Payments Index) ซึ่งได้ทำการสำรวจข้อมูลจากประชากรใน 18 ประเทศทั่วโลก พบว่า 93% ของผู้บริโภคชาวไทยมีช่องทางการชำระเงินมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 84% ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการชาวไทยกว่า 80% กล่าวว่าพวกเขาจะซื้อสินค้าจากธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้นหากธุรกิจเหล่านั้นเพิ่มช่องทางในการชำระเงินให้มากขึ้น

“ผลสำรวจในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ในบรรดาผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก กลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยเป็นกลุ่มที่เปิดรับการชำระเงินรูปแบบใหม่มากที่สุด นางสาวไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด กล่าว “ด้วยกลุ่มประชากรวัยรุ่นที่มีการเชื่อมโยงกันในรูปแบบดิจิทัล เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มการปรับใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลจะเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

ในอนาคต การชำระเงินด้วยเทคโนโลยีการชำระเงินที่มีความหลากหลายมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากความสะดวกสบายและความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ในขณะที่การชำระเงินด้วยเงินสดมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผลสำรวจระบุว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 79% ของผู้ทำแบบสำรวจในประเทศไทยวางแผนที่จะใช้เงินสดน้อยลงในปีหน้า ในขณะเดียวกันกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมสูงขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค โดย 81% คาดว่าจะหันมาใช้วิธีการชำระเงินประเภทนี้ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 62%

89% ของผู้บริโภคในประเทศไทยระบุว่า พวกเขาคาดหวังที่จะซื้อสินค้าได้ทุกเมื่อและด้วยวิธีที่พวกเขาต้องการ ข้อมูลทางสถิติของผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าธุรกิจที่ต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคควรตรวจสอบว่า ช่องทางการรับชำระเงินของพวกเขาสอดคล้องกับความต้องการทางเลือกที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ไอลีน กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า:

  1. การจับจ่ายและพฤติกรรมการชำระเงินแบบใหม่ 93% ของผู้บริโภคในประเทศไทยชำระเงินด้วยวิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่มากขึ้นในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 91% ใช้วิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่อย่างน้อยหนึ่งวิธี 77% กล่าวว่าพวกเขาได้ลองชำระเงินด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดที่จะใช้หากไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ธุรกิจทุกขนาดจะต้องเผชิญกับความคาดหวังที่มากขึ้นในการหาวิธีการสั่งซื้อและการชำระเงินที่หลากหลาย โดย 86% ของผู้ทำแบบสำรวจในไทยยอมรับว่าตอนนี้พวกเขาเลือกที่จะซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีทั้งหน้าร้านและร้านออนไลน์ และ 84% อยากซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกที่รับชำระเงินด้วยวิธีการใหม่ๆ อีกทั้ง 59% ของผู้บริโภคที่ได้ทำการสำรวจกล่าวว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงร้านค้าที่ไม่มีช่องทางการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
  2. ท่ามกลางวิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย:

คิวอาร์โค้ดเป็นที่นิยมมากขึ้น คิวอาร์โค้ดได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างมาก ในประเทศไทย 64% ของผู้ที่ใช้คิวอาร์โค้ดกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาพวกเขาใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดมากขึ้นกว่าก่อนๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 56% ผู้ทำแบบสำรวจชาวไทยส่วนใหญ่มองว่าวิธีการชำระเงินแบบใหม่อย่างคิวอาร์โค้ดสะอาดกว่า (83%) และสะดวกกว่า (87%) สำหรับการใช้จ่ายตามร้านค้าเพราะผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือของตนเอง ในขณะที่ 77% ของผู้บริโภคมองว่าคิวอาร์โค้ดมีความปลอดภัยในการจ่าย มีเพียง 67% เท่านั้นที่มองว่าเงินสดเป็นรูปแบบการชำระเงินที่ปลอดภัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้คนที่มากขึ้นในการใช้จ่ายด้วยคิวอาร์โค้ดและการชำระเงินแบบดิจิทัลในรูปแบบอื่นๆ

มีการใช้สกุลเงินคริปโตอย่างกว้างขวาง ปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถซื้อขายและแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตในรูปแบบสินทรัพย์หรือการลงทุน นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังแสดงความสนใจในการนำสินทรัพย์คริปโตไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดย 17% ของผู้บริโภคในไทยเคยใช้จ่ายด้วยคริปโตเคอร์เรนซีแล้วในปีที่ผ่านมา ขณะที่ 57% ของผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวใช้จ่ายด้วยคริปโตเคอร์เรนซีบ่อยขึ้นในปีที่แล้วมากกว่าปีก่อนๆ หากมองในเชิงภูมิศาสตร์ ผู้บริโภคในประเทศไทย (46%) และอินเดีย (44%) รู้สึกสบายใจที่จะใช้คริปโตเคอร์เรนซีมากกว่าผู้บริโภคในออสเตรเลีย (17%)

ผู้บริโภคยอมรับเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มากขึ้น ความปลอดภัยและความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดย 79% ของผู้บริโภคในไทยกล่าวว่าพวกเขารู้สึกตื่นเต้นกับการยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์อย่างท่าทางการเดิน และการเข้าสู่ระบบด้วยลายนิ้วมือ ซึ่ง 74% ยอมรับว่ารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์แทนการใส่รหัส PIN ในการชำระสินค้า

  1. ความปลอดภัยคือสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดจากการที่ 2 ใน 5 ของผู้ที่ทำแบบสำรวจในไทยเคยตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงในปีที่แล้ว ทำให้ผู้บริโภคต้องการความเชื่อมั่น โดย 88% ระบุว่าพวกเขาจะลองใช้เทคโนโลยีการชำระเงินใหม่ๆ หากเห็นว่าปลอดภัย ในขณะที่ 90% ต้องการให้แน่ใจว่าช่องทางการชำระเงินที่ร้านค้าให้บริการนั้นปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากจึงไว้วางใจผู้ออกบัตรและผู้ให้บริการเครือข่ายด้านการชำระเงินในการจัดหาเครื่องมือที่จะรักษาข้อมูลทางการเงินให้ปลอดภัย โดย 44% เห็นด้วยว่า พวกเขาจะไว้วางใจผู้ให้บริการชำระเงินของตนที่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดเพื่อพวกเขาจะได้ลดการตรวจสอบความถูกต้องด้วยตนเองลง แต่ในทางกลับกัน เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนไม่คิดที่จะลองใช้วิธีการชำระเงินใหม่ๆ คือความกังวลด้านความปลอดภัย (51%) และการปกป้องข้อมูล (44%)

เพื่อตามให้ทันความคาดหวังของผู้บริโภค ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับวิธีการชำระเงินที่ผู้บริโภคเลือกใช้

เมื่อผู้บริโภคมีความสนใจในเทคโนโลยีการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ ความคาดหวังให้ธุรกิจปรับตัวในระยะยาวจึงเป็นไปอย่างถาวร นอกจากนี้ การศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับร้านค้ารายใหญ่ 5,500 ราย ในเครือข่ายของมาสเตอร์การ์ดชี้ให้เห็นว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 มีร้านค้ามากกว่า 1 ใน 5 ที่เพิ่มช่องทางการชำระเงินให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกรรมแบบไร้การสัมผัส

การทำธุรกรรมแบบแตะเพื่อจ่ายพุ่งสูงขึ้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน มาสเตอร์การ์ดพบว่าจำนวนการทำธุรกรรมโดยไม่ใช้การ์ด (Card-not-present) หรือประเภทออนไลน์ ทั่วโลกโตขึ้นมากกว่า 30% ในขณะที่สัดส่วนของการชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรและสมาร์ทโฟนในร้านค้าใน 100 กว่าประเทศพบการเติบโตอย่างน้อย 50%[1] นอกจากนี้ เพียงในไตรมาสแรกของปี 2564 มาสเตอร์การ์ดพบการทำธุรกรรมแบบแตะเพื่อจ่ายเพิ่มขึ้น 1 พันล้านรายการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเทศอินเดียและไทยที่มีการทำธุรกรรมแบบไร้สัมผัสเพิ่มเป็น 2 และ 4 เท่า ตามลำดับ2 เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปี

บทบาทของมาสเตอร์การ์ดในการสนับสนุนการชำระเงินในอนาคต

เนื่องจากผู้บริโภคซื้อสินค้าและทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารและอินเตอร์เน็ตมากกว่าแต่ก่อน ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ มาสเตอร์การ์ดได้ประกาศยกระดับโครงการ Digital First ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายของการทำธุรกรรมผ่านอีคอมเมิร์ซ อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และการทำธุรกรรมแบบไร้สัมผัส ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมภายใต้โครงการ Digital First ทำให้ผู้บริโภคสามารถสมัครใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกและเริ่มต้นซื้อสินค้าออนไลน์ได้ทันที รวมถึงมีตัวเลือกและความอุ่นใจในระหว่างการซื้อสินค้า

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกชำระ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเวอร์ชวลหรือบัตรเสมือน หรือการโอนเงินจากบัญชีธนาคารผ่านสมาร์ทโฟน สมาร์ทวอทช์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ล่าสุด มาสเตอร์การ์ดได้เปิดตัวบริการชำระเงินใหม่ที่ชื่อว่า QR on Card ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่ธุรกิจขนาดเล็กจะสามารถจ่ายและรับเงินได้โดยตรงผ่านบัตรเครดิตด้วยวิธีการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ถูกพิมพ์ลายอยู่บนหน้าบัตร