“กรมชลประทาน” เร่งเครื่องแผนสร้าง “อ่างเก็บน้ำน้ำทิน” แก้ปัญหาภัยแล้ง
กรมชลประทานจัดสื่อสัญจร หลังโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำทินรุดหน้ารวดเร็ว เผยหากโครงการเสร็จได้ตามแผนจะสามารถช่วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค – บริโภคในฤดูแล้ง พร้อมเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างดี
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ผ่านมาโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำทินมีความคืบหน้าไปมาก ทางกรมฯ จึงได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อเปิดโกาสให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงเปิดช่องทางการพูดคุยกับภาคประชาชนในพื้นที่ที่ศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลของโครงการแก่สาธารณชน ให้ได้รับทราบอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
“กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำทิน มาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก นับแต่เริ่มการปฐมนิเทศโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ในช่วงปลายปี 2562 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนหน่วยราชการ สื่อมวลชน องค์กรภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนชุมชน และประชาชนจาก 3 ตำบล คือ ตำบลตะเบาะ ตำบลน้ำร้อน และตำบลนายม เข้าร่วม โดยช่วงที่ผ่านมาทางกรมได้นำพาสื่อมวลชนส่วนกลางและท้องถิ่น ลงพื้นที่สัญจร ติดตามความคืบหน้าโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำทิน จังหวัดเพชรบูรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง”
รองอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวต่อไปว่า อ่างเก็บน้ำน้ำทิน จังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ตำบลตะเบาะ และตำบลน้ำร้อน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาเรื่องแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภค – บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ อีกทั้งในช่วงฤดูฝนต้องประสบกับปัญหาป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตรตลอดมา ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้ประสานหน่วยงานราชการ เพื่อขอความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค – บริโภคในฤดูแล้ง และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 ขอให้สำรวจและจัดทำโครงการอ่างเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานได้พิจารณาศึกษารายละเอียดของโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำทิน นับจากนั้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำน้ำทิน จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงาน และประกอบการพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป กรมชลประทาน จึงมอบหมายให้บริษัท ดีไว พลัส คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำทิน (EIA) จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยแนวทางศึกษาโครงการ ประกอบด้วย (1) การศึกษาความเหมาะสมโครงการ (2) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ (3) การมีส่วนร่วมของประชาชน
ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำน้ำทิน ถูกจัดสร้างเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง อีกทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค – บริโภคของประชาชน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงในฤดูแล้ง รวมถึงเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการเกิดอุทกภัย ตัวโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำทิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 8 บ้านเขาขาด ตำบลตะเบาะ และหมูที่ 12 บ้านผาแดง ตำบลนายม อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
โดยลักษณะของตัวเขื่อนจะเป็นเขื่อนหินถมแทนดินเหนียว มีความยาว 480 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 40 เมตร สร้างปิดกั้นลำน้ำทิน มีเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ ความยาว 57 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 10 เมตร อาคารระบายน้ำล้น และท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิมอยู่ทางฝั่งซ้ายของตัวเขื่อน สามารถเก็บกักน้ำได้ 15.68 ล้านลูกบาศก์เมตร
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ อ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะสามารถส่งน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ครอบคลุม 13 หมู่บ้านของ ตำบลตะเบาะ และตำบลน้ำร้อน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานฝายเดิม 200 ไร่ และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 9,850 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 10,050 ไร่ ครอบคลุมทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำ ซึ่งผลจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ต่างเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตร ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตลอดลำน้ำทินได้ นอกจากนี้ ในอนาคตบริเวณเขื่อนของอ่างเก็บน้ำน้ำทิน จะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่
ความเป็นมาของโครงการ
- วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ประชาชนในพื้นที่ตำบลตะเบาะ และตำบลน้ำร้อน ได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน ขอรับสนับสนุนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำทิน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค รวมทั้งบรรเทาภัยแล้งของประชาชน
- มิถุนายน พ.ศ.2540 กองวางโครงการศึกษาจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นโครงการอ่างเก็บน้ำคลองน้ำทิน ตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
- วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 และวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ควรพิจารณาวางโครงการเก็บกักน้ำ ตอนบนของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือป่าสักมีมาก ให้พิจารณาจัดเก็บกักให้เหมาะสม
- กันยายน 2556 กรมชลประทานได้จัดทำรายงานวางโครงการ (Pre – Feasibility Study)
- กันยายน 2562 กรมชลประทานดำเนินโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำทิน