KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Sharp Turns or Bumpy Bends: From Crisis to Recovery” เพื่อเจาะลึกแนวโน้มและความร้อนแรงของเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถกลับมาดำเนินได้อย่างปกติ หลังการเร่งฉีดวัคซีน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นแรงกว่าที่คาดและผลกระทบต่อตลาดทุนที่นักลงทุนต้องรู้ เพื่อให้พอร์ตการลงทุนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลังการเปิดเมืองในหลายๆ ประเทศโดยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของ Lombard Odier
- จีน: เศรษฐกิจจีนจะยังคงแข็งแกร่งในปีนี้ แต่มาตรการทางการเงินและการคลังจะเริ่มลดลงเพื่อลดความร้อนแรง ดังนั้นเราจะเห็นเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ชะลอลง
- สหรัฐฯ: การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ได้รับแรงหนุนหลักจากสหรัฐฯ ซึ่งต่างจากช่วงที่ผ่านมาที่จีนเป็นส่วนสำคัญการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
- ยุโรป: แม้ยุโรปจะเริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าสหรัฐฯ แต่ก็สามารถเร่งการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะหนุนภาคบริการที่เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้เศรษฐกิจยุโรปยังมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งวงเงิน Recovery Fund และธนาคารกลางยุโรปก็ยังคงมาตรการผ่อนคลาย
ในด้านความกังวลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายและถอนสภาพคล่อง ล่าสุดในการประชุม FOMC เดือนมิถุนายน เฟดได้ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีการจ้างงาน และเงินเฟ้อ สำหรับปี 2565 และ 2566 เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องกับมุมมองของตลาดเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญจากการประชุม คือ 1) คณะกรรมการคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 2) เฟด ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการลดการซื้อสินทรัพย์แล้ว ทั้งนี้ มุมมองของธนาคารต่อการดำเนินนโยบายของเฟดคือ
- เริ่มส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ระหว่างเดือนสิงหาคมในการประชุมที่ Jackson Hole จนถึงปลายปีนี้
- เริ่มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงธันวาคม 2565 เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกกลางปี 2566 โดยการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ถือว่ามีโอกาสสูง และอยู่ในวิสัยที่เหมาะสม
- ลงทุนต่อเนื่องในสินทรัพย์เสี่ยง (Stay invested in risky assets) จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีในปีนี้ จะช่วยหนุนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราวจะยังหนุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นให้ไปต่อได้
- ลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักร และ Value ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว (Capture the recovery with cyclical and value stocks) ปัจจุบันหุ้น Growth นั้นถูกซื้อขายที่ราคาสูงกว่าหุ้น Value อยู่มาก นอกจากนี้ แนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้กับหุ้น Value มากกว่าหุ้น Growth
- อย่าพลาดการลงทุนในหุ้นยุโรป (Don’t miss Pan-European equities) เพราะหุ้นยุโรป และหุ้นอังกฤษ มีระดับ Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมีศักยภาพการเติบโตของกำไรสูง
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะปรับเพิ่มขึ้น (Yields to move up at a regular pace) โดยประเมินผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ 2% ณ สิ้นปี 2564 และ 5% ในช่วงปลายปี 2565 สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของดอกเบี้ยนโยบายเฟด
- ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในจีน (Use carry strategies to generate yield) เพราะ โดยเฉลี่ยตราสารหนี้จีนให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเท่ากันถึง 1.5% นอกจากนั้น ตราสารหนี้จีนจะได้ประโยชน์จากทิศทางเงินหยวนที่แข็งค่าอีกด้วย
- คงมุมมองบวกต่อค่าเงินหยวน และหาจังหวะเข้าซื้อค่าเงินยูโร (Remain overweight RMB and look for attractive entry points on EUR) เราคาดว่าเงินหยวนจะแข็งค่าสู่ระดับ 6.22 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี หนุนโดยส่งออกและดุลการชำระเงินที่แข็งแกร่ง ขณะที่ยูโรจะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ยูโร ภายในสิ้นปีนี้
- คงมุมมองว่าดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่า (Remain slightly bearish on the dollar) จากข้อมูลในอดีต ดอลลาร์สหรัฐฯ มักอ่อนค่ากว่ามูลค่าที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี ดังเช่นในปัจจุบัน
- ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวลดลง (Remain bearish on gold) ทองคำจะถูกกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ทั้งนี้ เราคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ ราคาทองคำจะอยู่ที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์
- มองหุ้นโครงสร้างพื้นฐานให้ผลตอบแทนโดดเด่น (Infrastructure should outperform) หนุนโดยแผนการฟื้นฟูของสหรัฐฯ และยุโรปที่พุ่งเป้าไปยังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เราจึงคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้จะสามารถปรับขึ้นได้ดี หนุนโดยกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าต่อเนื่อง
- การลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะเป็นกุญแจสำคัญของพอร์ตแห่งอนาคต (Sustainability is a key driver of portfolio performance) บริษัทที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทน้ำมันที่เปลี่ยนธุรกิจ ไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือระบบโซลาร์เซลล์แทน โดยในระยะยาว บริษัทเหล่านี้ถือเป็นผู้นำเทรนด์เศรษฐกิจในโลกอนาคต
เพื่อสร้างโอกาสและคว้าผลตอบแทนเพิ่มเติมในยุคเปิดเมือง ธนาคารยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน 1) สินทรัพย์ทางเลือก: ไม่ว่าจะเป็นหุ้นนอกตลาด REITs ไปจนถึงกลยุทธ์การลงทุนแบบ Hedge Fund หรือ Structured Notes จะช่วยแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในช่วงตลาดที่หลากหลาย และมีความผันผวนสูง 2) หุ้นกู้เอกชนจีน: เนื่องจากดอกเบี้ยในฝั่งประเทศเกิดใหม่ยังน่าสนใจกว่าประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นกู้จีนก็มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการลงทุนในหุ้นกู้จีนในบริษัทที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดีคาดว่าจะช่วงพยุงพอร์ตโดยรวมได้ดี สำหรับการคัดสรรหุ้นกู้คุณภาพมีความสำคัญ ในทางกลับกัน ก็ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะจะได้รับผลกระทบจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นที่จะทำให้ราคาปรับลง รวมถึงอัตราผลตอบแทนก็ต่ำมาก อาจไม่สามารถชดเชยกับแนวโน้มราคาที่ปรับลงได้
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังการเปิดเมือง ธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งยังคงเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Winner of New Economy, Health is Wealth, Save the World และ Laggard and Cyclical Upturns ที่ล้วนมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะ รวมไปถึงความสามารถในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว