DPU เผยผลวิจัย ซอฟต์สกิล (Soft Skills) ช่วยมนุษย์เอาชนะ AI ชี้มหาวิทยาลัยคือด่านสำคัญช่วยลดต้นทุน Upskill และ Reskill ขององค์กร

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยงานวิจัย “ทักษะอนาคตของกำลังแรงงานในประเทศไทย” พบว่า มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับ AI และในอีก 30 ปีข้างหน้า AI จะเก่งกว่ามนุษย์อีกพันเท่า ชี้ทางรอด “ซอฟต์สกิล” (Soft Skills) คือเครื่องมือสำคัญช่วยมนุษย์ชนะปัญญาประดิษฐ์ สร้างโอกาสใหม่ๆ ในสายอาชีพ โดยมหาวิทยาลัยเป็นเสมือนด่านหน้าที่สำคัญในการบ่มเพราะ Soft Skills ผลิตบุคลากรตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต ช่วยองค์กรลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการ Reskill และ Upskill ให้พนักงาน

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ เมื่อ AI สามารถทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้ ตามความเก่งของ AI ในแต่ละยุค ดังนั้นมนุษย์จะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจากการพัฒนาอย่างล้ำหน้าของ AI  ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ตระหนักถึงการ Reskill และ Upskill ทักษะของบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น”

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

มีการคาดการณ์ถึงการทำงานในอนาคตว่า AI จะทำงานร่วมกับมนุษย์และทำงานแทนมนุษย์ได้หลากหลายและรวดเร็วกว่าหลายเท่า  โดยเฉพาะงานที่มีรูปแบบซ้ำๆ (Routinized) งานที่มีกระบวนการทำงานและขั้นตอนที่ตายตัว แต่ทักษะด้าน Soft skills หรือทักษะทางสังคม ยังคงเป็นสิ่งที่ AI ยังพัฒนาได้ไม่เท่าทันมนุษย์ หากมนุษย์จะทำงานร่วมกับหรือทำงานให้เก่งกว่า AI ต้องพัฒนาทักษะ Soft skills ที่จำเป็น เช่น ทักษะการวิเคราะห์ในระดับสูง ทักษะทางสังคมในการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI ในอีกมุมมองหนึ่ง มีงานวิจัยหลายชิ้น พบว่าในหลายประเทศมีการแย่งชิงแรงงานทักษะที่มีทักษะการวิเคราะห์ในระดับสูง เช่น Data Scientist, Solutions Engineer, UX Designer, Software QA Engineer, Software Developer และ Front End Developer ซึ่งรูปแบบการทำงานจะมุ่งเน้นเป็นแบบ Freelance มากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นจะต้องมีการเรียนการสอนที่สามารถตอบสนองความต้องการของแรงงาน และผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแรงงานที่พร้อมในการทำงานในอนาคต”

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ทำการศึกษา เรื่อง “ทักษะอนาคตของกำลังแรงงานในประเทศไทย” เพื่อศึกษาว่าแรงงานในอนาคตว่าควรมีชุดทักษะ (Skill Set) อะไรบ้าง โดยศึกษา Skill Set สำหรับแรงงานในอนาคตของไทยใน 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงพัฒนา AI (2020 – 2029) ช่วงทำงานร่วมกับ AI (2030 – 2059) และช่วงอยู่ร่วมกับ AI (2050 –2060)

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ช่วงที่ 1 – ช่วงพัฒนา AI (Evolving with AI) ตั้งแต่ปี 2020-2029 เป็นช่วงที่ AI ยังไม่เก่งเท่ามนุษย์ ยังไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ยังคิดและตัดสินใจไม่เก่งเท่ามนุษย์ จึงสามารถทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้เท่านั้น เช่น งานที่มีการประมวลผลข้อมูลซ้ำๆ งานมีรูปแบบการคำนวณที่เหมือนกัน และไม่ต้องใช้การวิเคราะห์เฉพาะสถานการณ์ ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในยุคนี้ คือ ทักษะในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งต้องใช้สัญชาติญานความเป็นมนุษย์ในการคิดและตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ตายตัว กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking /Design Mindset) ทักษะการคิดปรับเปลี่ยนเชิงประยุกต์ (Adaptive Thinking) ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Collaboration)  และ ทักษะในการรับมือกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Cross Culture)

ช่วงที่ 2 – ทำงานร่วมกับ AI (Working with AI) ตั้งแต่ปี 2030-2049 เป็นช่วงที่มนุษย์ทำงานร่วมกับ AI มากขึ้น ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น มนุษย์มีความจำเป็นต้องเพิ่มทักษะ และการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทักษะที่จำเป็นในช่วงเวลานี้คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Skill) และทักษะการสร้างมูลค่าหรือคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการ (Value Creation Skill) ถือเป็นทักษะด้านศิลปะทางความคิดที่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่ง AI จะยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้แบบ 100%

และสุดท้ายคือ ช่วงที่ 3 – อยู่ร่วมกับ AI (Living with AI) ตั้งแต่ปี 2050-2060 ผลวิจัยคาดการณ์ไว้ว่า AI จะมีความสามารถมากกว่ามนุษย์พันเท่า ข้อดีคือ สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ มนุษย์ไม่ต้องเหนื่อยทำงานมาก การใช้ AI มีต้นทุนถูกกว่าการจ้างแรงงานมนุษย์ ส่วนข้อเสียคือ งานบางประเภทจะหายไป มนุษย์ที่มีทักษะเก่า ๆ จะตกงาน และจะมีงานประเภทใหม่เข้ามาทดแทน ดังนั้น ทักษะในช่วงเวลานี้ คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง (Advanced analytical Skill) เพื่อให้สามารถทำอาชีพใหม่ที่ AI ไม่สามารถทำแทนได้ อาชีพใหม่ที่คาดหวัง คือ ที่ปรึกษาเชิงปรัชญา (Philosophical Consultant) นักออกแบบเวลาว่าง (Free Time Designer) นักออกแบบอาชีพ (Occupation Designer) และนักออกแบบห้องเสมือนจริง (Virtual Room Designer) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะแรงงานต่างมีความเห็น ว่าหากจะมองถึงสถานการณ์ในช่วงที่ 2 (ทำงานกับ AI) และช่วงที่ 3 (อยู่ร่วมกับ AI) อาจเป็นการคาดการณ์ที่ไกลเกินไป ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงานในช่วงที่ 1 (พัฒนา AI) คือตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2029 ซึ่งพบว่าทักษะที่จำเป็นในอนาคตสำหรับแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเป็นทักษะที่มีลักษณะเป็นซอฟท์สกิล (Soft Skills)ได้แก่

  • ทักษะการวิเคราะห์และปรับใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจโครงสร้างของข้อมูล และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดเชื่อมโยงได้ เนื่องจาก ในช่วงเวลานี้ AI จะทำหน้าที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลใน BIG DATA ที่มีอยู่มากมาย มนุษย์จำเป็นต้องมีความรู้ในการนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ได้
  • ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เป็นการนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้ สร้างสรรค์ต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ
  • ทักษะการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพสูงสุด การใช้ชีวิตบนโลกแห่งดิจิทัล เช่นการค้นหาข้อมูล การจดบันทึก บนสื่อดิจิทัล เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการทิ้งร่องรอยบนโลกดิจิทัลเพื่อช่วยให้ AI สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ได้มากขึ้น
  • ทักษะการปรับตัว ทั้งวิธีการทำงาน กรอบแนวคิด การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong Learning)
  • ทักษะการบริหารจัดการคน เนื่องจากในอนาคตการทำงานเป็นทีมถือเป็นปัจจัยสำคัญ
  • ทักษะด้านการมีเหตุผลในการคิด เพื่อเสริมสร้างให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำมาจัดวางเป็นโปรแกรมบนดิจิทัลต่อไปได้
  • ทักษะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ในระดับยีนและ DNA เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในอนาคต
  • ทักษะด้านภาษา การฝึกฝนทางด้านภาษาที่หลากหลาย เพื่อช่วยเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ผลจากการศึกษาวิจัยยังได้สะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคที่จะส่งผลต่อการพัฒนาแรงงานในอนาคตพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนในการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะของแรงงาน หลายๆ องค์กรอยากลงทุนเรื่องการสร้างทักษะให้แก่แรงงาน แต่ยังไม่ได้มีแผนที่ชัดเจน ไม่มีแนวทาง ไม่ทราบว่าควรพัฒนาทักษะอะไร ไม่มีเครื่องมือในการวัดทักษะเดิมของพนักงาน โดยมีสัดส่วนขององค์กรที่ยังไม่คิดถึงแผนการพัฒนาทักษะแรงงาน หรือมีแผนบ้างแต่ยังไม่ได้ลงมือทำกว่า 48% หรือบางองค์กรที่ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็พบว่าบุคลากรยังขาดความรู้และไม่มีสมรรถนะที่จะเข้าใจเรื่องของ AI จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดได้ และยังพบว่าประเทศไทยขาดการปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงทำให้บุคลากรขาดการเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ นอกจากนี้ยังขาดแรงจูงใจด้านค่าตอบแทนหรือการคุ้มครองสิทธิบัตรทางปัญญาให้กับผู้สร้างนวัตกรรม คนที่เก่งด้านเทคโนโลยีจึงไปทำงานให้กับประเทศอื่น รวมถึงยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีสร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนมองว่า AI คือนวัตกรรมที่จะมาพัฒนาประเทศ ไม่ใช่นวัตกรรมที่จะมาทำให้คนตกงาน

“ผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำให้เราตระหนักได้ว่าความสามารถของมนุษย์เมื่อทำงานร่วมกับ AI นั้น จะเกิดประสิทธิภาพที่เป็นเลิศ องค์กรจึงต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานอยู่เสมอ แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีการปรับและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความจำเป็นของอนาคต โดยการปลูกฝัง Soft Skills ที่พร้อมสำหรับการทำงานให้กับบุคลากร ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้ปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ลดน้อยลง เพราะจะสามารถลดต้นทุนในการ Reskill และ Upskill ให้กับองค์กรต่าง ๆ ได้” ดร. ดาริกา กล่าว

AIDPUReskillSoft SkillsUpskillม.ธุรกิจบัณฑิตย์
Comments (0)
Add Comment