เจาะลึกแนวคิด 3 มูลนิธิชั้นนำของโลก ที่มุ่งสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันที่ยั่งยืน

เพิ่มศักยภาพองค์กรสาธารณกุศลเพื่อตอบแทนสังคม ผ่านนวัตกรรมการลงทุน ให้การบริหารจัดการความเสี่ยงและการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเร่งกระจายวัคซีนโควิด-19 เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายและหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด หลายประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางต้องพบกับความท้าทายในการหาแนวทางให้ประชากรสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังจะเห็นได้จากความพยายามขององค์กรสาธารณกุศลระดับโลกอย่างมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ซึ่งได้มอบเงินบริจาคกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ* เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำหรับการทดลอง รักษา และเร่งกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ผู้คนทั่วทั้งทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และประเทศอื่นๆ

องค์กรสาธารณกุศลถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางสังคมมาอย่างยาวนาน ทุกหน่วยงานล้วนมีปณิธานที่ยิ่งใหญ่และน่าชื่นชม อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ที่ดีต้องมาพร้อมกับโครงสร้างทางกลยุทธ์ที่ครอบคลุม จึงจะสามารถสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคมได้อย่างยั่งยืน

ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “KBank Private Banking ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์กรสาธารณกุศลหลายแห่งในประเทศไทย และเล็งเห็นว่าการลงทุนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสาธารณกุศลสามารถพึ่งพาตนเองและบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือสังคมได้ ในฐานะผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ KBank Private Banking จึงมองเห็นโอกาสที่จะนำตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานที่โดดเด่นขององค์กรสาธารณกุศลชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย นโยบาย และการตัดสินใจลงทุน มาเผยแพร่แก่สาธารณชน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปปรับใช้ เพื่อยกระดับศักยภาพในการดำเนินงาน และสานต่อเจตนารมณ์อันดีให้ยั่งยืนต่อไป”

สานต่อเจตนารมณ์เพื่อสังคมด้วย Venture Philanthropy

บิล เกตส์ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นอภิมหาเศรษฐีที่ใจบุญที่สุด ได้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) กับอดีตภรรยาขึ้นเมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน ปัจจุบันมูลนิธิได้รับการขนานนามให้เป็นต้นแบบแห่ง Venture Philanthropy ซึ่งเป็นรูปแบบกิจการสาธารณกุศลที่ใช้เครื่องมือในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนทางสังคม (Social Return) และสิ่งแวดล้อม (Environment Return) ควบคู่กับการสร้างรายได้ทางการเงิน (Financial Return) โดยมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ มีแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน คือ กว่า 95% ของสินทรัพย์จะนำไปลงทุนผ่านทางกองทรัสต์ของมูลนิธิในรูปแบบต่างๆ เช่น การถือครองหุ้นในบริษัทเอกชน หรือการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนและภาครัฐ ภายใต้กฎเกณฑ์ว่าจะไม่มีการเข้าร่วมลงทุนในกิจการยาสูบและสิ่งมึนเมา ทั้งนี้ ทรัพย์สินต่างๆ ของกองทรัสต์จะต้องสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายในหนึ่งปี โดยผลตอบแทนที่ได้นั้นจะนำไปสนับสนุนงานวิจัยสำคัญต่างๆ อาทิ ด้านสุขอนามัย โรคภัยไข้เจ็บ การศึกษา เทคโนโลยี และปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมในหลากหลายประเทศทั่วโลก เป็นต้น นอกจากนี้ ทุกทรัพย์สินยังต้องสามารถคงอยู่ต่อไปอีก 20 ปี หลังจากการเสียชีวิตของสองผู้ก่อตั้ง ซึ่งทำให้มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ เป็นเพียงไม่กี่มูลนิธิของโลกที่กำหนดเป้าประสงค์ในการสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติไว้อย่างชัดเจน

บริหารกองทุนการกุศลให้มั่นคงด้วยการกระจายความเสี่ยงระยะยาว

มูลนิธิแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA Foundation) จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการกองทุนที่มั่นคงให้กับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มูลนิธิมีหลักการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงที่หลากหลายในระยะยาว เพื่อช่วยลดทอนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกับการตั้งเป้าผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยได้ตั้งกรอบงบประมาณในการลงทุนสำหรับหุ้นทั่วโลกประมาณ 35-70% และหุ้นภาคเอกชนที่ 10-30% โดยส่วนที่เหลือจะเข้าลงทุนในกองทุนต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ และการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นต้น อีกหนึ่งการลงทุนที่โดดเด่นของมูลนิธิก็คือ การยึดหลักปรัชญาด้าน ESG (Environmental, Social, Governance) โดยกระบวนการตัดสินใจลงทุนในทุกขั้นตอนจะต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และการจัดการที่ดีเป็นที่ตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการดำเนินงานของมูลนิธิที่ต้องการผลักดันบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพสู่การสร้างสรรค์ผลงานและมอบประโยชน์แก่สังคมรุ่นหลังสืบไป

ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสมาชิกผ่านการวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน

เช่นเดียวกับมูลนิธิด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส องค์กรสาธารณกุศลในประเทศไทยอย่าง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ก็ยึดมั่นในหลัก ESG และการลงทุนระยะยาวผ่านการกระจายสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นในการรักษาความสมดุลระหว่างความปลอดภัยของเงินต้น และผลตอบแทนจากการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีกระบวนการอนุมัติแผนการลงทุนที่วางโครงสร้างไว้อย่างดี มีการกลั่นกรองเป็นลำดับชั้นจากทั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการ คณะจัดการกลยุทธ์การลงทุน และผู้จัดการกองทุนหรือฝ่ายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารและจัดการความมั่นคงของสมาชิกได้ตรงตามเป้าหมาย พร้อมกับสร้างความมั่นคงด้านผลตอบแทนและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สมาชิกข้าราชการเมื่อถึงวาระเกษียณ

“ท่ามปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นจากวิกฤตด้านโรคระบาด เครือข่ายองค์กรสาธารณกุศลที่มีความเข้มแข็งจะยิ่งมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวอย่างของ 3 มูลนิธิระดับโลกและระดับประเทศได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า องค์ความรู้ทางด้านการลงทุนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมได้ในหลายมิติ โดยนวัตกรรมการลงทุนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการดำเนินงานขององค์กรสาธารณกุศลในปัจจุบัน” ดร. ตรีพล กล่าวสรุป