กทม. ผนึกเอสซีจี ลุยสร้างห้องไอซียูโมดูลาร์รองรับผู้ป่วยวิกฤต เสร็จพร้อมใช้งานทันที ภายใน 1 สัปดาห์ มั่นใจเดินหน้าสู้โควิด
กทม.จับมือเอสซีจีทุ่มสรรพกำลังสู้ภัยโควิด 19 เร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ กู้วิกฤตขาดแคลนเตียงไอซียูในกทม. ช่วยคนไข้วิกฤตโควิดทันท่วงที สร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์คลายกังวลหลังเผชิญปัญหาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวิกฤตสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี พร้อมทีมผู้บริหารเอสซีจี ร่วมส่งมอบนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ให้กับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร อำนวยการสำนักการแพทย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบุคลากรทางการแพทย์ เป็นตัวแทนผู้รับมอบ ณ ศูนย์แพทย์ศาสตร์และการเรียนรู้เพื่อผู้สูงอายุ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การขาดแคลนห้องไอซียูโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU) จำนวน 4 อาคาร 40 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้ทันท่วงที เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังช่วยสร้างความอุ่นใจให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างดีที่สุด ซึ่งนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ 1 อาคาร จำนวน 10 เตียง จะใช้เวลาก่อสร้างหน้างานรวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1 สัปดาห์ และจะทยอยส่งมอบสัปดาห์ละ 1 อาคารจนครบ ทั้งนี้ เอสซีจีให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 33 ล้านบาท ภายใต้มูลค่าโครงการรวม 45 ล้านบาท”
นอกจากนี้ เอสซีจี ยังมีแผนผลิตห้องไอซียูโมดูลาร์ให้กับโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งเมื่อรวมกับที่เอสซีจีผลิตทั้งหมดจะมีจำนวนห้องไอซียูโมดูลาร์ทั้งสิ้น 60 เตียง หรือร้อยละ 10 ของเตียงไอซียูประมาณ 400 เตียง ในกรุงเทพมหานคร ช่วยให้สามารถรับมือกับวิกฤตโควิดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ และสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องชาวไทย
“เอสซีจี เชื่อว่าในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น หากพวกเราจับมือ รวมใจกัน ใช้กำลังความรู้ ความสามารถที่มี ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด รวมถึงร่วมกันเป็นพลัง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน จะช่วยนำพาประเทศให้รอดพ้นโควิดในครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
พื้นที่การใช้งานแบ่งเป็น 5 ส่วน
1. ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่างๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM)
2. NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM)
3. MEDICAL PREPARATION สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับผู้ป่วย
4. ANTE ROOM ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่พื้นที่ ICU Zone
5. ANTE ROOM ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU 2. สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ 3. ถอดชุด PPE พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่