ETDA ผนึก 3 กูรูดิจิทัล เปิดกลยุทธ์ปั้นสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ปัง! พิชิตเงินแสนกับ “CRAFT IDEA พาชุมชน โกออนไลน์”

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือ 3 กูรูด้านดิจิทัล ได้แก่ นายทรงพล เนรกัณฐี ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดเพื่อการสร้างแบรนด์, อาจารย์ณัฐวรรธณ์ ศรีสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ,นายวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญการนำเสนอแผนธุรกิจ รางวัล Gold Prize จากซิลิคอนวัลเลย์ ทีมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการ ETDA Business Hackathon “CRAFT IDEA พาชุมชนโกออนไลน์” เปิดกลยุทธ์เคล็ดไม่ลับในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซแก่ทีมผู้สมัคร เพื่อเป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน สู่สุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อชุมชน พิชิตเงินรางวัลรวมกว่า 200,000 บาท ที่สำคัญใช้งานได้จริง อย่างยั่งยืน สู่การยกระดับวิถีชีวิตคนในชุมชนด้วยดิจิทัล

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ETDA จัดโครงการ ETDA Business Hackathon “CRAFT IDEA พาชุมชนโกออนไลน์” เพื่อเป็นเวทีให้คนรุ่นใหม่ ได้แก่ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและแผนธุรกิจ ได้มาประลองไอเดียสร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าประกวด เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่จะพาสินค้าและบริการในชุมชนโกออนไลน์ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคได้ไม่ต่างจากสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการเอกชน สู่การสร้างรายได้แก่คนท้องถิ่นในระยะยาว พร้อมชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท รวมถึงโอกาสในการก้าวสู่โลกธุรกิจอีคอมเมิร์ซอีกมากมาย ซึ่งตั้งแต่ ETDA เปิดรับสมัครให้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในรอบคัดเลือก ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มคนรุ่นใหม่สมัครและร่วมส่งผลงานมาที่โครงการอย่างต่อเนื่อง

โดยเกณฑ์การพิจารณาผลงานในรอบคัดเลือกนี้ ETDA จะเน้นพิจารณาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.“แนวคิดในการทำแผนธุรกิจ” ต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์ของธุรกิจ มีเป้าหมายและแผนในการดำเนินธุรกิจที่มีความชัดเจน 2.“ความคิดสร้างสรรค์” มีความคิดริเริ่ม แปลกใหม่ นำมาเป็นจุดขายและความน่าสนใจให้กับธุรกิจ สู่การนำมาประยุกต์ใช้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 3.“ความเป็นไปได้” แผนธุรกิจที่ดีต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ในการนำมาปฏิบัติใช้จริง จึงจะเกิดประโยชน์ในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของต้นทุน ค่าใช้จ่ายและกำไร และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และ 4.“ความน่าสนใจ” ซึ่งพิจารณาจากแผนธุรกิจในรูปแบบของ VDO ความยาว 1-3 นาที โดยเนื้อหาต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและข้อดีของแนวคิด พร้อมนำเสนอแบบเข้าใจง่าย สร้างสรรค์ โดยไม่จำกัดเทคนิคในการนำเสนอผลงาน

ด้านนายทรงพล เนรกัณฐี ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลอดเพื่อการสร้างแบรนด์ กล่าวว่า CRAFT IDEA พาชุมชน โกออนไลน์ นับเป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งการสร้างโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลักสำคัญที่จะต้องตระหนักคือ “โมเดลธุรกิจนั้นๆ จะต้องทำให้สินค้าหรือบริการในชุมชนมีคุณค่า เพื่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ” ดังนั้น โมเดลธุรกิจที่จะเข้ามาในโครงการนี้ จึงจะต้องไม่ใช่แค่เน้นในเรื่องของการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้เท่านั้น แต่ผู้เข้าแข่งขันยังต้องทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ พร้อมประเมินสถานการณ์ ทั้งสินค้าและบริการในชุมชน รวมถึงภาพรวมของตลาดธุรกิจออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่ต้องการจะผลักดันว่ามีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เกิดเป็นโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อชุมชน ที่จะทำให้สินค้าหรือบริการที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรมดั่งเดิมเหล่านั้น ให้มีชีวิต เป็นที่สนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดออนไลน์ รวมถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จนไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการจากชุมชนนั้นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ดี จะต้องทำให้คนในชุมชนที่นำไปใช้ สามารถมองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ สู่การยกระดับชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

อาจารย์ณัฐวรรธณ์ ศรีสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า แนวคิดสำคัญในการสร้างโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ การออกแบบที่ทำให้โมเดลหรือแผนธุรกิจนั้นๆ สามารถทำให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะต้องเป็นแนวคิดที่มาจากการตั้งคำถาม ว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการ มีปัญหาหรือ pain point อย่างไร เพื่อสร้างสรรค์แผนธุรกิจ สู่การออกแบบโซลูชั่น เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ง่ายขึ้น ซึ่งแนวคิดแบบนี้จะเป็นฐานความคิดของการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด และหากโมเดลดังกล่าว นำสินค้า บริการ ไปสู่โลกแพลตฟอร์มดิจิทัลก็จะทำให้เกิดการเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่พวกเขาใช้ติดต่อซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย ดังนั้น แพลตฟอร์มดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจจะต้องมีและต้องให้ความสำคัญ เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ ทำงานกับข้อมูล หรือ Data การที่เราสามารถเข้าใจข้อมูล ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นวิเคราะห์แผนธุรกิจ จนถึงวิธีการแก้ไขปัญหา จะส่งผลต่อการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางของแผนได้ดีขึ้นและสามารถเลือกวิธีการหรือหนทางที่ดีที่สุดมาปรับใช้กับแผนของเรา นอกจากนี้ โมเดลธุรกิจจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้างผลกระทบในทางที่ดีให้เกิดต่อสินค้าและบริการในชุมชนนั้นๆ

ขณะที่ นายวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญการนำเสนอแผนธุรกิจ รางวัล Gold Prize จากซิลิคอนวัลเลย์กล่าวถึงแนวคิดการสร้างโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซว่า สินค้าหรือบริการของชุมชน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีจุดเด่นและมีเสน่ห์อยู่ในตัว ตรงนี้นับเป็นจุดแข็งที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำไปพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ใช้ให้สามารถขยายไปในตลาดออนไลน์ หรือในตลาดที่มีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นได้ไม่ยาก ผ่านการเชื่อมโยงการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เพราะอย่าลืมว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้นักท่องเที่ยวจากเดิมที่เคยลงไปท่องเที่ยวตามชุมชน ซื้อสินค้า บริการท้องถิ่น ก็กลายมาเป็นซื้อสินค้าทางออนไลน์แทน จนอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน เพราะเขาก็ไม่ได้มีองค์ความรู้ในการนำสินค้าของตนเองมาสู่โลกออนไลน์ที่มากพอ

ดังนั้น การที่มีโครงการนี้ขึ้น นับเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้คนในชุมชน สินค้า และบริการท้องถิ่นไปต่อได้ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลายคนก็จะรู้จัก เพราะการที่โมเดลธุรกิจพาสินค้าไปสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซจะทำให้คนภายนอกรู้จักสินค้า บริการ ของดีในชุมชนมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนนั้นๆ หรือนักท่องเที่ยวอีกต่อไป ดังนั้น การที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มาร่วมแชร์ไอเดียโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อชุมชนนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการขับเคลื่อนของการชี้ช่องทางการหารายได้ใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชน ที่ไม่ต้องยึดติดกับการขายในรูปแบบเดิมที่คุ้นชินอีกต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย ที่สนใจเข้าร่วมส่งผลงานโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เข้าประกวดกับโครงการ ETDA Business Hackathon “CRAFT IDEA พาชุมชนโกออนไลน์” สามารถส่งผลงานเข้ามาได้จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ e-mail : events@etda.or.th หรือติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook : CRAFT IDEA พาชุมชน โกออนไลน์ หรือที่ Link: https://fb.me/e/1qkYubcUy หรือ LINE : @etdahackathon หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2346- 9000 หรือ โทร. 083 327- 5085

CRAFT IDEAETDAพาชุมชนโกออนไลน์สพธอ.
Comments (0)
Add Comment