สำนักงานสลากฯ พร้อมดัน 10 ชุมชน สู่ “ชุมชนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน”
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย พันตำรวจเอก บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมแถลงข่าวโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชน ปี 3 โดยมีผู้แทนชุมชนปีที่ 1 – ปีที่ 2 พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาโครงการ พันธมิตรเพื่อการพัฒนาชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในรูปแบบการแถลงข่าวออนไลน์
รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า สำนักงานสลากฯมีความมุ่งมั่นดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ ในการเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม เป็นที่ยอมรับของประชาชน กิจกรรมหนึ่งที่ตอบสนองวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม คือ การให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและการสร้างคุณค่าร่วมให้กับชุมชน เพื่อเป้าหมายการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกในชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศเป็นระดับต่อไป
ทั้งนี้ ด้วยการให้ความสำคัญต่อวิสัยทัศน์ และคำนึงถึงเป้าหมายดังกล่าว ทางสำนักงานสลากฯ จึงริเริ่มโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชนมาตั้งแต่ปี 2562 มีชุมชนได้รับการพัฒนา 17 แห่ง และสำนักงานสลากฯ ดำเนินงานก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นปีที่ 3 ด้วยหลักคิดการพัฒนาโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารจัดการชุมชน ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการที่มีเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีความสุขจากความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความมั่นคง ยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดหรือการเล่นพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน รวมถึงการพนันอื่นๆ ซึ่งสำนักงานสลากฯ มีความแน่วแน่ในการ ไม่สนับสนุนให้เล่นการพนันทุกประเภท
รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ กล่าวถึงการดำเนินงานในปีที่ 3 ว่า ภายใต้สถานการณ์ COVID สำนักงานสลากฯ มองว่าวิกฤตินี้ คือ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ ในการ “ซ่อม สร้าง เสริม” ชุมชนให้แข็งแกร่ง พร้อมที่จะเข้าสู่ยุคต่อไปของความปกติใหม่ ที่มีทั้งความท้าทายทางการตลาด การเปลี่ยนแปลง ของพฤติกรรมผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว รวมถึงกระแสนิยมของโลกใบนี้ที่หมุนเปลี่ยนไปในทุกวินาที จึงได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชุมชนในจังหวัดการท่องเที่ยวรอง สมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีชุมชนสมัครมาทั้งสิ้น 68 แห่ง และคณะกรรมการได้เชิญผู้แทนชุมชนรับการสัมภาษณ์ และพิจารณาคัดเลือกชุมชนที่มีแนวคิดพร้อมจะสร้างคุณค่าการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีทรัพยากรและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่า สร้างเรื่องราวอันน่าประทับใจนำเสนอไปยังกลุ่มตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพได้อย่างตรงจุด เข้าร่วมโครงการฯ ปีที่ 3 รวม 10 ชุมชน ดังนี้
- ชุมชนริมคลองประเวศฝั่งเหนือ กรุงเทพมหานคร
- ชุมชนบ้านคลองบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี
- ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จังหวัดจันทบุรี
- หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านท่ามะขาม จังหวัดราชบุรี
- ชุมชนบ้านวังต้น จังหวัดนครนายก
- กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลมสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี
- ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี
- ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จังหวัดชัยนาท
- พิพิธภัณฑ์ชุมชนจันเสน จังหวัดนครสวรรค์
- ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี
รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยแนวคิดในยุค New Normal การดำเนินงานโครงการฯ ในปีที่ 3 จึงเน้นการพัฒนาและสร้างเครือข่ายในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวให้กับชุมชนเป้าหมาย การนำทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนมาขับเคลื่อนการพัฒนาการบริหารจัดการชุมชน การนำผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการชุมชนที่มีเอกลักษณ์จากทุนสร้างสรรค์ของชุมชนมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านการเสริมศักยภาพสู่โอกาสใหม่ทางการตลาด ภายใต้ GLO Creative Community ซึ่งเป็น DNA ของโครงการฯปีนี้ ได้แก่ “Growth” เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นพร้อมรับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน, “Local Wisdom” เป็นชุมชนที่มีเรื่องราวจากภูมิปัญญาพื้นถิ่น และ “Online” เป็นชุมชนที่สามารถเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาด Online Platform ต่างๆได้ เพื่อยกระดับชุมชนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 10 แห่ง สู่ “ชุมชนการท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” ให้สามารถ “ช้อป-ชิม-ชม สร้างรายได้ตลอด 24 ชั่วโมง” รับเทรนด์การท่องเที่ยวยุค Next Normal
โดยกระบวนการพัฒนาซึ่งจะเป็นปัจจัยความสำเร็จ ของโครงการฯ ปีที่ 3 ว่า สำนักงานสลากฯ จะใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ของบุคลากรและเครือข่ายที่ปรึกษาบูรณาการความร่วมมือผ่านกิจกรรมที่หลากหลายต่างๆที่เน้นกระบวนการมส่วนร่วมกับชุมชน อาทิ การจัดคณะที่ปรึกษาให้กับทุกชุมชนรวม 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกลยุทธ์การตลาด , ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ , ด้านการพัฒนาอาหาร , ด้านการพัฒนาประสบการณ์ท่องเที่ยว และด้านดิจิทัล การจัดนิทรรศการและจำหน่ายสินค้าที่สำนักงานสลากฯในรูปแบบ O2O การจัดทำเครื่องมือสื่อสารทางการตลาด และที่พิเศษสำหรับปีนี้ คือ การทดสอบและเผยแพร่การท่องเที่ยววิถีชุมชนในระดับสาธารณะ ผ่าน Youtuber ที่มีชื่อเสียง การจัดทำแผนการยกระดับชุมชนฯ, แผนการตลาดออนไลน์ และแผนการเชื่อมโยงความสำเร็จเชิงพาณิชย์ให้กับทุกชุมชน และสำนักงานสลากฯยังจัดทำ “GLO Selected” ในรูปแบบ CATALOG Online นำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการเด่นของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปีที่ 1 – ปีที่ 3 เพื่อผลักดันให้เกิดความสำเร็จเชิงพาณิชย์แบบเร่งรัด (Quick win) และต่อยอดสู่ความสำเร็จที่เข้มแข็งและยั่งยืน ต่อไป