นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม – มิถุนายน) ธุรกิจประกันชีวิตมีผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 294,896.57 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 83,745.52 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 211,151.05 ล้านบาทด้วยอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68 และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 81
อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 142,804.21 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 มีสัดส่วนร้อยละ 48.43
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 124,101.47 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.45 มีสัดส่วนร้อยละ 42.08
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางนายหน้า จำนวน 13,824.71 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 มีสัดส่วนร้อยละ 4.69
อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ จำนวน 7,133.99 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 มีสัดส่วนร้อยละ 2.42
อันดับ 5 การขายผ่านช่องทางดิจิทัล จำนวน 370.07 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 มีสัดส่วนร้อยละ 0.13
อันดับ 6 การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ จำนวน 19.64 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 15.55 มีสัดส่วนร้อยละเพียง 0.01
อันดับ 7 การขายผ่านช่องทางอื่น ๆ จำนวน 6,642.47 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.20 สัดส่วนร้อยละ 2.25
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงเป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 21,598.72 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึงร้อยละ 96.05 ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 46,549 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.54 และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,243.93 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.74 แต่มีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทอื่น
ทั้งนี้จากการที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เติบโตเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 96.05 นั้น เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้ครบทุกช่วงวัยทั้งเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นและเรื่องความคุ้มครองของประกันชีวิต ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และสถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่นๆ ทำให้ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทยในครึ่งหลังของปี 2564 ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงมองว่าธุรกิจจะเติบโตได้ตามที่คาดการณ์การเติบโตไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อต้นปี 2564 ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000 – 610,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ – 1 ถึง +1 ซึ่งเป็นการคาดการณ์แบบระมัดระวัง (Conservative) เนื่องจากทิศทางของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการคาดการณ์ครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 ซึ่งอยู่ในระดับฟื้นตัวช้า (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
ขณะเดียวกันธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนาความคุ้มครองด้านสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI)อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร(ทั้งระบบ online และ off line) เช่น telemedicine, บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน(SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน รวมถึงเพราะเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่สำคัญที่เสริมสร้างวินัยทางการออมของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุ ซึ่งปัจจุบันทางสมาคมประกันชีวิตไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวและอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทประกันชีวิตในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถตอบโจทย์เพื่อวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
ทั้งนี้ภาคธุรกิจประกันชีวิตไทยมีความมุ่งมั่นเพื่อตอบสนองความต้องการ ตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย มีการพัฒนาคุณภาพการบริการหลังการขาย ตลอดจนมีการพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัลและการบริการผ่านระบบออนไลน์ มีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบดิจิทัล (Digital Face to Face) และ มีการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความรู้ความสามารถรวมถึงการบริการที่เป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งปัจจุบันทางภาคธุรกิจประกันชีวิตไทย ได้รับการอนุโลมแนวทางการให้ความคุ้มครองการบริการรักษาพยาบาล ณ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจนอกสถานพยาบาล (Hospital) โรงพยาบาลสนาม และล่าสุดรวมถึงการอนุโลมให้ความคุ้มครองไปยัง Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 ของ คปภ. ลงวันที่ 29 กรกฏาคม 2564 ซึ่งเงื่อนไขจะเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทประกันชีวิตกำหนด เพื่อให้แบบประกันชีวิตสามารถให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือถึงแนวทางและรูปแบบการสอบออนไลน์ (E-Exam) ที่เหมาะสม มีความโปร่งใสและรัดกุม ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ธุรกิจประกันชีวิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ และมีความยั่งยืนต่อไป
“สมาคมประกันชีวิตไทยและภาคธุรกิจประกันชีวิต มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยไปจนครบกำหนดสัญญา โดยบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้านทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย มีฐานะทางการเงินและเงินกองทุนที่มั่นคงเพียงพอต่อการปฏิบัติตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการส่งมอบบริการที่เป็นเลิศทุกช่องทางและมุ่งพัฒนาต่อยอดคุณภาพการให้บริการโดยนำระบบเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยในทุกสถานการณ์ได้มากขึ้น” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในตอนท้าย