ในวันที่โลกป่วยด้วยภาวะโลกร้อน “ต้นไม้” เป็นตัวช่วยสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหลักได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีส่วนช่วยรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศตามธรรมชาติและคืนความสมดุลให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ “เอสซีจี” ซึ่งมีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านการปลูกต้นไม้ เพื่อการฟื้นฟูป่าที่สมบูรณ์ โดยให้ทุกกลุ่มธุรกิจดำเนินกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการปลูกอย่างมีองค์ความรู้ เพื่อให้กล้าไม้ต้นเล็กๆ สามารถอยู่รอด และเจริญเติบโตแข็งแรงเป็นต้นไม้ใหญ่ได้อย่างยั่งยืน
โดยเอสซีจีได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านการปลูก ตั้งแต่การเพาะกล้า การขยายพันธุ์ การปลูกต้นไม้ให้รอดในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงขยายผลการศึกษา และปลูกไปยังป่าโกงกาง และต่อยอดสู่หญ้าทะเล เพราะช่วยดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าบก และช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืน
“ป่าโกงกาง-หญ้าทะเล” พืชมหัศจรรย์ฮีโร่ช่วยลดโลกร้อน
พืชมหัศจรรย์ของโลกอย่าง “ป่าโกงกาง” และ “หญ้าทะเล” มักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเล แต่เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รับรู้ถึงความพิเศษและเรียนรู้การปลูกพืชทั้งสองชนิดนี้สักเท่าไหร่ “เอสซีจี” ได้ร่วมกับชุมชนและเครือข่ายจิตอาสา ศึกษาและต่อยอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกป่าโกงกางและหญ้าทะเลในพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอย อ.กันตรัง จ. ตรัง เพื่อช่วยฟื้นฟูและขยายพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าปลูกต้นโกงกาง 14,000 ต้น 20 ไร่ และหญ้าทะเล 15,000 ต้น 10 ไร่ ในปี 2564 ซึ่งการปลูกให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการปลูกหรือเพาะพันธุ์อย่างถูกวิธี
การทำลายป่าโกงกางในอดีต ส่งผลให้ชุมชนบ้านมดตะนอยต้องประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานขึ้น รวมทั้งพื้นที่หญ้าทะเลของชุมชนก็มีปริมาณลดลงอย่างมากอีกด้วย อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดคลื่นมรสุมรุนแรง หญ้าทะเลเกิดความเสียหาย อีกทั้งการโผล่พ้นน้ำทะเลนาน ๆ มาเจอกับความร้อนระอุ จึงทำให้หญ้าทะเลแห้งตายในที่สุด
ปัจจุบัน ชุมชนบ้านมดตะนอยร่วมมือกันฟื้นฟูขยายพื้นที่ปลูกป่าโกงกาง และร่วมมือกับชุมชนเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มจากปลูกต้นโกงกางไปสู่หญ้าทะเล ซึ่งถือได้ว่าเป็นซุปเปอร์ฮีโร่จากท้องทะเล ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศจนเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
เสริมสร้างระบบนิเวศ ช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน
ไม่เพียงเท่านั้น “ป่าโกงกาง” ยังมีประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศในป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่วางไข่ของสัตว์น้ำ เพิ่มแหล่งอาหารและแหล่งสมุนไพร เป็นพื้นที่กรองน้ำและขยะสู่ทะเล ทั้งยังช่วยลดแรงปะทะของลมลดการกัดเซาะของน้ำ ที่สำคัญยังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและคนในพื้นที่ใกล้เคียง ผลจากการปลูกป่าโกงกางทำให้มีกุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้น เพราะป่าโกงกางเป็นต้นกำหนดของสัตว์ทะเล อีกทั้งยังช่วยดูซับลมร้อนอีกด้วย
ขณะที่ “หญ้าทะเล” ซึ่งพบในประเทศไทยอยู่ถึง 12 ชนิด จาก 58 ชนิดที่พบทั่วโลก สามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าระบบนิเวศป่าบกเขตร้อนถึง 40 เท่า โดยเก็บไว้ในรูปแบบของมวลชีวภาพ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และการดักจับจากตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่น ๆ อีกทั้งหญ้าทะเลยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือเป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งหลบซ่อนศัตรูของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่อย่าง “เต่าทะเล” และ “พะยูน” ที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลนี้ด้วย นั่นหมายความว่า หากป่าโกงกางและหญ้าทะเลลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ก็ย่อมเสี่ยงกับการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลอีกมากมาย และยังนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น เพราะขาดฮีโร่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง
ปลูกต้นไม้อย่างมีความรู้ เพิ่มโอกาสรอดและเติบโต
ก่อนปลูกต้นโกงกาง ให้ดูความพร้อมของพื้นที่จากพืชนำร่องอย่างต้นแสมที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าพื้นที่ใดสามารถปลูกต้นโกงกางได้ โดยช่วงเวลาเหมาะสมในการปลูกคือ ช่วงปลอดมรสุม ฝั่งอ่าวไทยจะอยู่ประมาณเดือนเมษายน-สิงหาคม แต่ฝั่งอันดามันประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้ต้นโกงกาง เพราะทำให้รากยึดพื้นดินและแข็งแรงพอที่จะต่อสู้ในช่วงมรสุมได้ จึงต้องอาศัยเวลาในการปลูกใหม่พร้อมกับปลูกทดแทนส่วนที่เสียหายจากลมมรสุมอยู่เป็นระยะ ส่วนการปลูกแบ่งออกเป็น การปลูกด้วยฝัก (เน้นปลูกช่วงเดือนเมษายน) และการนำฝักไปเพาะให้เป็นต้นกล้าก่อนนำมาปลูกในดินเลนงอกใหม่ (ปลูกซ่อมแซม) โดยแต่ละต้นให้ปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร
ขณะที่ การปลูกหญ้าทะเล เอสซีจีและชุมชนได้ร่วมกันไปศึกษาดูงานจากแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเลที่มูลนิธิอันดามัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับความรู้ดั้งเดิมของชุมชน มาสร้างเป็นกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การเก็บพันธุ์หญ้าทะเล และการทดลองปลูกในศูนย์เพาะพันธุ์ ที่มีอัตราการรอดตายระหว่างเพาะพันธุ์สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังช่วยลดความเสียหายให้แหล่งหญ้าทะเลที่เกิดจากวิธีการแยกกอในการย้ายปลูก จนได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลให้ชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงานได้อย่างต่อเนื่อง
รวมพลังจิตอาสาเอสซีจีเรียนรู้ปลูกต้นไม้ถูกวิธีเพื่ออนาคต
เสียงสะท้อนจากพนักงานจิตอาสาของเอสซีจี “ธนะกรณ์ อินทิยศ” BSE Officer สังกัด BSE – North Chain กลุ่มธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า การปลูกต้นไม้เป็นการปลูกเพื่ออนาคต โดยจากสภาพปัจจุบัน โลกร้อน น้ำแล้ง ฝนทิ้งช่วง ฝนตก แต่ไม่มีน้ำ ทำให้ได้ฉุกคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง และสิ่งแรกที่นึกถึงคือ การปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดโลกร้อน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า ทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น
“สุภาพรรณ วงศ์จักรแก้ว” พนักงานการบุคคลและธุรการบางซื่อ บจก.นวพลาสติกอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ กล่าวว่า ได้ปลูกต้นประดูซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่น และเห็นการเจริญเติบโตของต้นประดู่ ตั้งแต่การแช่เมล็ด การแตกและงอกออกจากเมล็ด การเห็นใบอ่อนเติบโตอย่างรวดเร็วและดูแลให้เติบโตอยู่รอด
เพราะพันธุ์ไม้มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีวิธีกระจายเมล็ดพันธุ์และเติบโตได้ในสภาพดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกัน นักรักษ์โลกที่หันมาช่วยกันปลูกต้นไม้ ต้องเปลี่ยนมาปลูกอย่างถูกวิธีและมีความรู้ เพื่อให้ต้นไม้อยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน สร้าง “ป่าสีเขียว” มาช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดภาวะโลกร้อนได้ต่อไป