ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัวนับครั้งไม่ถ้วนให้ตอบรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรักษายอดขายให้กับร้านของตน และดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่จะเป็นหนึ่งในทางออกที่ดีสำหรับการสร้างรายได้ให้กับร้านอาหารในภาวะที่สังคมไทยยังต้องตั้งการ์ดสูง และร่วมมือกันอยู่บ้านให้มากที่สุดเพื่อช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดให้สำเร็จ
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจให้บริการส่งอาหารถึงบ้าน (Food Delivery) ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ และตัวร้านอาหารที่เพิ่มบริการนี้ขึ้นมา หรือมีการใช้ทั้งสองช่องทางควบคู่กัน แต่สำหรับร้านขนาดเล็กทั่วไปซึ่งมีทุนและกำลังคนจำกัดในการบริหารจัดการส่งอาหารให้กับลูกค้าได้เองอย่างเป็นระบบ การใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ในยุคสมัยนี้ได้ดีทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกตามเงื่อนไขที่เหมาะสมกับร้านของตัวเอง หรือจะใช้หลายแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มการเข้าถึงจากลูกค้าก็สามารถทำได้
โดยได้สกัดเคล็ดลับจากงานสัมมนา “6 กลเม็ดปั๊มยอดขายบนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทันที ดังนี้
สร้างความดึงดูดใจด้วยรูปภาพสินค้าและรายการอาหารที่ชัดเจน รูปภาพที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มเปรียบเสมือนหน้าร้านที่จะทำให้ลูกค้าหยุดแวะสำรวจรายการอาหาร หรือเลื่อนผ่านไปยังร้านอาหารอื่นๆ ที่มีให้เลือกอีกมากมายบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ปัจจุบันเทคโนโลยีกล้องบนโทรศัพท์มือก็สามารถถ่ายภาพสวยๆ ได้แล้ว และอย่าลืมให้ความสำคัญกับรายการอาหารที่ต้องชัดเจนเข้าใจง่าย การสร้างลูกเล่นให้กับชื่อรายการอาหารก็สามารถสร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อย และต้องขยันเช็คเวลาเปิด-ปิดร้าน และอัพเดทเมนูเตรียมรับลูกค้าบนแพลตฟอร์มให้พร้อมทุกวัน
การจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ให้กับลูกค้าโดยตรง สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านได้อีกหลายเท่าเลยทีเดียว ซึ่งจะได้ทั้งลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามา และยังเป็นการสร้าง Loyalty และ Engagement ให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำ หรือนึกถึงร้านของเราเป็นอันดับแรกๆ และควรมีโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลพิเศษให้กับลูกค้าเสมอ เพราะเป็นช่วงที่ลูกค้ามักจะมีออเดอร์สั่งซื้ออาหารแต่ละครั้งในปริมาณที่มากขึ้น
วางกลยุทธ์การขายให้สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมของลูกค้า ต้องกลับมาวิเคราะห์ธุรกิจของตัวเอง เช่น ช่วงเวลาใดที่มีคำสั่งซื้อหนาแน่น เพื่อจะได้จัดโปรโมชั่นกระจายคำสั่งซื้อของลูกค้าไปยังช่วงเวลาอื่นทดแทน ตลอดจนวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งร้านซึ่งก็มีผลต่อต่อพฤติกรรมการสั่งอาหารเช่นกัน เพราะหากร้านตั้งอยู่ย่านออฟฟิศจะมีคำสั่งซื้อเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงจันทร์ – ศุกร์ แต่หากเป็นย่านที่พักอาศัยชานเมืองคำสั่งซื้อจะหนาแน่นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งหากสามารถวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะนี้ได้จะช่วยให้ร้านอาหารสามารถปรับเปลี่ยนเมนูได้เหมาะกับลูกค้ามากขึ้น และจัดรายการส่งเสริมการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อรู้ว่าช่วงใดที่ยอดขายจะหายไปก็สามารถไปหา Cloud Kitchen ในทำเลอื่นเพื่อขายอาหารให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเติม
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ปัจจุบันมีชุมชนเฉพาะกลุ่มมากมายบนโซเชียลมีเดีย เช่น กลุ่มคนชอบกินราเมง กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ กลุ่มคนรักปิ้งย่าง กลุ่มของกินย่านเยาวราช เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสของร้านอาหารที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและแชร์เรื่องราวดีๆ หรือข้อมูลของทางร้าน ความรู้เกี่ยวกับอาหารที่คนในชุมชนนั้นให้ความสนใจ นับเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ร้าน สินค้า และโปรโมชั่นที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้เราเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และนำมาพัฒนาปรับปรุงให้ตรงความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
การทำการตลาดดิจิทัลบนโซเชียลมีเดียของร้าน แม้เราจะขึ้นไปขายอาหารอยู่บนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่โซเชียลมีเดียของร้านยังคงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับลูกค้าตัวจริงที่เราต้องให้ความสำคัญ แม้บนแพลตฟอร์มจะมีผู้บริโภคอยู่มากมายแต่เราไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นลูกค้าของเรา แต่คนที่ติดตามร้านเราอยู่แล้วนั้นคือลูกค้าที่มีตัวตนของเราแน่นอน จึงควรเป็นช่องทางหลักในการทำการตลาด เช่น ไลฟ์แนะนำเมนูพิเศษ สอนทำอาหาร และเป็นช่องทางแจ้งโปรโมชั่นของทางร้านที่ลิงค์การซื้ออาหารไปยังแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่
สร้างประสบการณ์ที่ดีเทียบเท่านั่งรับประทานในร้าน ผู้ประกอบการจะต้องพลิกบทบาทมาเป็นลูกค้าของร้านตัวเองและสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับลูกค้า เพื่อประเมินสิ่งที่ลูกค้าได้รับไปนั้นสามารถทดแทนการนั่งรับประทานที่ร้านได้ดีเพียงใด มีสิ่งใดที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณภาพของอาหารที่ส่งมอบให้กับลูกค้าจะต้องสะอาด มีรสชาติต้องใกล้เคียงกับการรับประทานที่ร้านให้มากที่สุด หน้าตาของอาหารต้องน่ารับประทานและตรงปก ได้รับการบรรจุในแพคเกจที่สามารถรักษาสภาพของอาหารได้อย่างเหมาะสม และเมื่อเปิดออกมาต้องพร้อมสำหรับการรับประทานได้ในทันที
พฤติกรรมการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย และน่าจะอยู่ต่อไปอย่างถาวร แม้สถานการณ์โควิด-19 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารจึงควรเพิ่มบริการในรูปแบบของฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อก้าวไปพร้อมกับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเคล็ดลับทั้ง 6 ข้อข้างต้นสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกแพลตฟอร์มและในทุกสถานการณ์เพื่อสร้างยอดขายอย่างแข็งแกร่ง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี ผ่านช่องทาง website: www.scb.co.th/th/sme-banking และ Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร.02 7222222