เมื่อ “การสแกนหน้า” พลิกโฉมธุรกิจ-อุตสาหกรรมโลก สกาย ไอซีที เปิดทิศทางอนาคต “Face Recognition” ในไทย

ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเทคโนโลยีล้ำๆ ในภาพยนตร์ Sci-fi แต่ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา “เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า” (Face Recognition) กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก และมีแนวโน้มจะยิ่งทรงพลัง สร้างมิติใหม่ต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต

ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรม การให้บริการ Digital Platform และ AI Solutions ระดับประเทศ เล่าว่า เทคโนโลยี Face Recognition นับเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์โลกที่เด่นชัดขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนสามารถระบุข้อมูลของใบหน้ามนุษย์ได้อย่างแม่นยำ ล่าสุด Face Recognition ค่อยๆ เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีการพิสูจน์อัตลักษณ์ทางกายภาพของบุคคล (Biometrics) รูปแบบอื่น เนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบและหลากหลายอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ยังสามารถมองเห็นรายละเอียดได้มากกว่าตาของมนุษย์ ณ ช่วงวินาทีเดียวกัน ทำให้มหาอำนาจหลายประเทศทั่วโลกต่างนำเทคโนโลยี Face Recognition เข้ามาช่วยค้นหาคนหายจากฐานข้อมูลใบหน้า ไปจนถึงใช้ติดตามมิจฉาชีพและผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการใช้เพื่องานด้านความปลอดภัย (Security) แบบในภาพยนตร์แล้ว เทคโนโลยี Face Recognition ยังถูกนำมาใช้ในหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจค้าปลีก (Retail) ได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้ตั้งแต่การนับจำนวนคนเข้ามาในห้าง ไปจนถึงการพัฒนาการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management หรือ CRM) ช่วยตรวจจับและแจ้งเตือนให้พนักงานขายทราบตั้งแต่ตอนที่ลูกค้า VIP เดินเข้ามาในห้าง เพื่อที่จะได้เข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม 2.ธุรกิจสุขภาพ (Health) ประเทศในแถบอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา นำเทคโนโลยี Face Recognition มาใช้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ตรวจจับเพื่อดูแลไม่ให้ผู้สูงอายุเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง

3.ธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistic) นำอุปกรณ์ IoT (Internet of Thing) เข้ามามีส่วนช่วยเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี Face Recognition ในยานพาหนะ มาใช้กับเรื่องระบบ Face Access เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการด้านโลจิสติกส์มีหลากหลายกลุ่ม อาทิ คนขับรถ คนส่งของ พนักงานคลังสินค้า สินค้าที่จะขนส่งก็มีระดับความสำคัญหลากหลาย จึงใช้การสแกนใบหน้า เพื่อกำหนดสิทธิ์การเข้าพื้นที่ของคนแต่ละกลุ่ม ตรวจสอบว่าผู้ขับรถคันดังกล่าว เป็นผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ประเภทดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้ไม่มีใบอนุญาตมาขับแทน รวมถึงตรวจจับว่าใบหน้าของผู้ขับขี่ มีอาการอ่อนเพลียหรือหลับหรือไม่ และแจ้งเตือนให้จอดพักหากมีอาการ นอกจากนี้ ยังรวมถึงช่วยตรวจสอบว่า พนักงานบางกลุ่มที่จำเป็นต้องประจำอยู่ในบางพื้นที่ของคลังสินค้าตลอดเวลา เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย ได้ประจำอยู่ในพื้นที่จริงๆ

ขณะที่การใช้งานเทคโนโลยี Face Recognition ในไทยนั้น ขยล เล่าว่า ในอดีต Face Recognition ในไทย เคยเผชิญความท้าทายเรื่องคุณภาพของตัวกล้องที่ใช้ตรวจจับใบหน้า และความแตกต่างระหว่างบริบทของประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยี Face Recognition และประเทศไทย แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยี Face Recognition ในไทยพัฒนาไปไกลขึ้น จนสามารถทลายความท้าทายดังกล่าว และกลายเป็นสาเหตุสำคัญให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสนใจนำ Face Recognition มาใช้งานอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ สกาย ไอซีที ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ SenseTime ผู้พัฒนา AI ระดับท็อปของโลก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Face Recognition สำหรับประเทศไทยในลักษณะ “Co-develop” นำข้อมูลดิบ (Raw Data) ในไทยมาป้อนให้ Machine Learning เพื่อพัฒนาและเรียนรู้บริบทของประเทศไทย รวมถึงใส่ใจกับความหลากหลายของการใช้งานกล้อง มีเทคโนโลยีรวมศูนย์กล้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำให้มากยิ่งขึ้น

ขยล เชื่อว่าระบบการทำงานของ Face Recognition จะยิ่งมีบทบาทเหมือนภาพยนตร์ Sci-fi มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) และเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เพิ่มความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในทุกด้าน โดย สกาย ไอซีที จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคโนโลยี Face Recognition และ Access Control สำหรับเข้าพื้นที่ต่างๆ การพัฒนาเทคโนโลยีการทำความรู้จักลูกค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เพื่อเข้าไปช่วยตอบโจทย์ธุรกิจการเงิน ประกันภัย การศึกษา สร้างความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้คน