ในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ลูกค้าไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้เช่นสถานการณ์ปกติ ซึ่งขัดกับธรรมชาติของธุรกิจที่นอกจากเป็นการขายรสชาติและคุณภาพของอาหารแล้ว ยังขายบรรยากาศให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ ในภาวะเช่นนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องหาทางออกและปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างหนทางรอดให้กับธุรกิจ
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ถึงแม้ผู้ประกอบการร้านอาหารจะสามารถผ่านบททดสอบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรกเมื่อปีก่อนมาได้ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าการปรับตัวที่ผ่านมานั้นจะเพียงพอที่พาธุรกิจฝ่าโจทย์ที่ท้าทายมากกว่าในปีนี้ไปได้หรือไม่ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงและขยายวงกว้าง ทำให้มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดมีความเข้มงวดโดยผันแปรตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคาดการณ์ได้ยากว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อใด และส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่สามารถเดินทางมาที่ร้านได้เหมือนเดิม ต้องสั่งอาหารผ่านทางเดลิเวอรี่ หรือออนไลน์มากยิ่งขึ้น ร้านอาหารต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในตลาดใหม่ที่หลายร้านยังไม่ถนัดหรือมีความรู้เพียงพอในการแข่งขันให้ร้านอาหารอยู่รอด
ดังนั้นธนาคารจึงมุ่งเน้นการให้ความรู้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกู้วิกฤตและพลิกกลับมามียอดขายได้ดีอีกครั้ง ด้วยการขายผ่านออนไลน์หรือเดลิเวอรี่ให้มากขึ้น โดยได้เชิญ เชฟบุญธรรม ภาคโพธิ์ แชมป์เชฟกระทะเหล็ก เจ้าของร้าน Honmono Sushi และนายชลวิทย์ ไตรโลกา เจ้าของร้านกะพง Kapong Delivery มาร่วมบอกเล่าเทคนิคการปรับตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในงานสัมมนา “เปิดสูตรลับ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจอาหารต้องรอด” ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ถือเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่สามารถปรับตัวฝ่าวิกฤตได้อย่างประสบความสำเร็จ
มีเคล็ดลับที่อยากจะเล่าให้ฟังหลักๆ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) กระโดดเข้าสู่ตลาดออนไลน์ทันที ช่องทางหลักที่ทำให้ธุรกิจยังมียอดขายในช่วงโควิด-19 คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ในช่วงแรกผลตอบรับไม่เป็นดั่งที่คาดหวัง แต่เมื่อเรียนรู้และใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับลูกค้า จึงทำให้มองเห็นจุดแข็งตัวเองชัดเจนยิ่งขึ้น จนสามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงยังเป็นช่องทางขายสำหรับธุรกิจของเราได้อย่างถาวร 2) สร้างลูกเล่นในการขายด้วยไอเดียใหม่ๆ การกระโดดเข้าสู่ช่องทางขายออนไลน์ทำให้เราพบว่ามีรูปแบบการขายที่น่าสนใจ ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆที่นำมาสร้างลูกเล่นให้การขายของเราสนุกยิ่งขึ้น เช่น การถ่ายทอดสดขายอาหาร เปิดประมูลวัตถุดิบ และสอนวิธีการทำอาหาร ซึ่งได้รับกระแสการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีกลุ่มลูกค้าติดตามมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมียอดขายอย่างต่อเนื่อง
และ 3) ปรับบทบาทหน้าที่พนักงานให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจใหม่ เมื่อโมเดลธุรกิจต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้พนักงานต้องเรียนรู้หน้าที่ใหม่ ซึ่งเราเปิดโอกาสให้พนักงานได้หมุนเวียนทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ทำหน้าที่ Admin ตอบคำถามลูกค้าทางออนไลน์และทางโทรศัพท์ หน้าที่ในการทำอาหาร หน้าที่ในการจัดส่งอาหารให้กับลูกค้า ในส่วนนี้จะทำให้พนักงานมีการฝึกฝนตนเองให้รู้จักร้านของเรา รู้จักเมนูอาหาร วัตถุดิบ และรู้จักลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่ธุรกิจแบบดั้งเดิมกำลังพยายามเร่งปรับตัวเพื่อหนีตายจากวิกฤตในครั้งนี้ หากยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพิษโควิด-19 ที่ยังไม่ยอมแพ้ จนสามารถสร้างธุรกิจอาหารขึ้นมาใหม่ในยุคโควิด-19 ได้อย่างประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ร้านกะพง Kapong Delivery
โดยเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง คือ 1) มองหาช่องว่างในตลาดและเติมเต็มด้วยสินค้าของเรา เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจยึดนำมาปรับใช้และคอยสำรวจตลาดเพื่อคอยตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ เช่น ขายปลากะพงทอดน้ำปลาเหมือนกันแต่มีเพียงเจ้าเดียวที่ขายแบบครึ่งตัว เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าให้สามารถเลือกได้ 2 รสชาติ จาก10 รสชาติในหนึ่งตัว การจัดโปรโมชั่นเป็นเซทอาหารทานแบบครอบครัว นอกจากนี้ช่องทางออนไลน์ของร้านก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร ดังนั้นร้านจึงให้ความสำคัญกับรูปเมนูอาหารและการตั้งชื่อเมนูที่แปลกใหม่
2) พาตัวเองให้อยู่ใกล้ลูกค้า การส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่สิ่งสำคัญคือการต้องอยู่ใกล้ลูกค้า เพราะมีค่าจัดส่งตามระยะทาง จึงทำให้ธุรกิจเน้นการลงทุนทำแบบ Cloud Kitchen ซึ่งมีต้นทุนน้อย เพื่อทำให้จุดจัดส่งอาหารของร้านมีระยะทางใกล้กับลูกค้ามากขึ้น ส่งผลให้ค่าจัดส่งสินค้ามีราคาถูกซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งอาหารง่ายขึ้น โดยการมีเดลิเวอรี่เป็นของตัวเองนั้นทำให้ร้านควบคุมการจัดส่งและแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที หรือเข้าร่วมแพลตฟอร์ม โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ไม่เรียกเก็บค่า GP ก็ช่วยให้ร้านมีรายรับอย่างเป็นธรรม
3) สร้างแบรนด์ให้ดังด้วยพลังคำพูด หรือการบอกปากต่อปาก มีพลังต่อการขายสินค้าอย่างมากเพราะมีความน่าเชื่อถือและเกิดจากประสบการณ์ของลูกค้าตัวจริง ซึ่งพลังปากต่อปากจะเกิดขึ้นได้เมื่อร้านอาหารสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าจนนำไปสู่การแชร์ความรู้สึกดี เราจึงต้องคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้อาหารยังดูน่ารับประทานเมื่อถึงมือลูกค้าและกระตุ้นให้ลูกค้าถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดียบอกต่อประสบการณ์ที่ดีกับคนรู้จักต่อไป
การปรับตัวและลองทำสิ่งใหม่ๆ อาจจะยากและไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่การล้มแล้วลุกคือการเรียนรู้ที่มีคุณค่าให้ธุรกิจร้านอาหารนำไปพัฒนาตัวเองและส่งผลให้ธุรกิจของเราอยู่รอดในวิกฤตครั้งนี้และก้าวไปข้างหน้าได้มั่นคงขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามข้อมูลเคล็ดลับธุรกิจ และกิจกรรมงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.scbsme.scb.co.th Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร.02 7222222