ธอส. จับมือ ตชด. ต่อยอดความรู้แก่ ครู ตชด. รุ่นที่ 4 จัดอบรมออนไลน์ในหัวข้อ “ห้องเรียนไร้กรอบ”
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดโครงการ “ธอส. พัฒนาชีวิตครู ตชด. เพื่อสังคมไทย ก้าวไกลยั่งยืน ปี 2564” จัดอบรมออนไลน์ในหัวข้อ “ห้องเรียนไร้กรอบ” ถ่ายทอดประสบการณ์ใหม่ แลกเปลี่ยนแนวคิด ให้ครู ตชด. นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ New Normal
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ตามที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” โดยดำเนินการควบคู่กับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 68 ปี ของการดำเนินงาน ล่าสุดยังได้จัดทำ โครงการ “ธอส. พัฒนาชีวิตครู ตชด. เพื่อสังคมไทยก้าวไกลยั่งยืน ปี 2564”
โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ธนาคารจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือ ธอส.เพื่อโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประจำปี 2564” ระหว่าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ และแนวคิดในการทำงาน เพื่อเพิ่มความสามารถ ประสบการณ์ ด้วยเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ให้แก่ครู ตชด. ได้รับทราบและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการเรียน การสอน ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ New Normal ไร้กรอบ โดยไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบหรือวิธีการเดิม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ต่อไป
สำหรับการจัดกิจกรรมอบรมครู ตชด. ในปีนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยมี นางสุดจิตตรา คำดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร และรักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ห้องเรียนไร้กรอบ” ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีครู ตชด. ทั่วประเทศ ที่ได้รับการคัดเลือกจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 25 โรงเรียนรวมทั้งสิ้น 50 คน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับฟังการบรรยายในเรื่องต่าง ๆ อาทิ เทคนิคการจัดทำเนื้อหาการสอนออนไลน์ การสร้างความมั่นใจ ปรับเปลี่ยนแนวความคิดให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ นวัตกรรมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน