ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษและเป็นประธานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร Prime Minister’s Insurance Awards ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ Virtual 360° ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุญาตให้ใช้ลายมือชื่อสลักลงบนโล่เกียรติยศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูเกียรติองค์กร หน่วยงาน และบุคคลดีเด่นด้านการประกันภัยที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อสังคม ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 17 โดยมีรางวัลรวม 13 ประเภท 55 รางวัล ภายใต้การจัดงานในรูปแบบไฮบริดออนไลน์ พร้อมจัดแสดงรางวัล Hall of Fame บนแพล็ตฟอร์มแบบ Virtual 360° ทางเว็บไซต์ www.oicinsurawards.org
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ในตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมคณะกรรมการ คปภ. ผู้บริหาร บุคคลากรสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นำพาประชาชนไปสู่วิถีปกติแบบใหม่ New normal นับเป็นอีกความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยหวังว่าในอนาคตจะขยายผลไปสู่การประกันภัยพืชผลอื่น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรับประกันภัยมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สำนักงาน คปภ. ได้ผลักดันให้มีการพัฒนากฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยสุขภาพเป็นกฎหมายเฉพาะที่ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชน โดยมุ่งหมายให้ประชาชนที่สมัครใจเข้าสู่ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคเอกชน (Private Health Insurance) สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และส่งเสริมนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการ รวมทั้งการปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐาน ให้มีความคุ้มครองที่ทันสมัยเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการกำหนดเบี้ยประกันภัยที่ทำให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์จากการทำประกันภัยสุขภาพได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
“สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย พร้อมที่จะบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการส่งเสริมและผลักดันให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง และสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย