“สกาย ไอซีที” กางผลงาน Q3/2564 กวาดรายได้ 706 ล้าน โชว์แบ็คล็อกแกร่ง 17,000 ล้าน หนุนผลประกอบการมั่นคง

“สกาย ไอซีที” กางผลประกอบการไตรมาส 3/2564 กวาดรายได้ 706 ล้าน พร้อมกำไรสุทธิ 15 ล้าน แบ็คล็อกแกร่ง 17,000 ล้าน หนุนรายได้รักษาระดับมั่นคงท่ามกลาง COVID-19 ไตรมาส 4/2564 พบสัญญาณบวกจากการเปิดประเทศ ดันรายได้จากโครงการเกี่ยวเนื่องกับสนามบินฟื้นตัว พร้อมนำ TOSSAKAN บุกตลาดความปลอดภัย 7 กลุ่มอาคารต่อเนื่อง

นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรม การให้บริการ Digital Platform และ AI Solutions ระดับประเทศ เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564 (ก.ค.-ก.ย.64) บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 706 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงส่งมอบโครงการภาครัฐหลายโครงการได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้กับท่าอากาศยาน โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการดิจิทัลด้านปฏิบัติการให้กับท่าอากาศยาน โครงการซื้อกล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่ายแบบมุมมองคงที่และอุปกรณ์ประกอบพร้อมติดตั้ง 212 กล้องให้กับกรุงเทพมหานคร

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การเปิดประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของภาครัฐชะลอตัวลง ส่งผลต่อโอกาสการรับงานใหม่ของผู้เชื่อมโยงระบบ หรือ System Integrator ทั้งอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี สกาย ไอซีที ได้สร้างรากฐานปริมาณงานในมือไว้อย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ โดยบริษัทได้เข้าทำสัญญาและมีงานที่รอส่งมอบตามสัญญาในอนาคต คิดเป็นยอดรอรับรู้รายได้ หรือ แบ็คล็อกต่อเนื่อง 10 ปี ประมาณ 17,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เรายังคงให้ความสำคัญกับการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง หาแนวทางกระจายช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ทำให้เรายังคงรักษาระดับรายได้ได้อย่างมั่นคงแม้ในสภาวการณ์ปัจจุบัน” นายสิทธิเดช กล่าว

นายสิทธิเดช กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์การดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาส 4/2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงการต่างๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศและรับรู้รายได้ตามจำนวนผู้โดยสารขาเข้า ผู้โดยสารขาออก ผู้โดยสารผ่าน และผู้โดยสารเปลี่ยนลำ เช่น โครงการการให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) โครงการประมวลผลรายการข้อมูลสำหรับฐานข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร (PNR) มีโอกาสรับรู้รายได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้เริ่มต้นเดินหน้าบุกภาคเอกชนอย่างเต็มตัว โดยเปิดตัวแพลตฟอร์มระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security Platform) ภายใต้ชื่อ TOSSAKAN (ทศกัณฐ์) ผสานพลังอันแข็งแกร่งอีกขั้นของเทคโนโลยี AI มาทํางานร่วมกันแบบไร้รอยต่อ (Seamless) ดูแล ความปลอดภัยภายในอาคารและพื้นที่สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้งาน อาคารทุกประเภท โดยมุ่งเน้นเจาะตลาดความปลอดภัยของอาคาร 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.โครงการที่อยู่อาศัย ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร 2. อาคารสํานักงาน 3.โรงแรม 4.โรงพยาบาล 5.โรงงาน 6.อาคารเชิงพาณิชย์หรือห้างสรรพสินค้า 7.สถานศึกษา ตั้งแต่โรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย คาดว่าจะทยอยสร้างรายได้กลับเข้าสู่บริษัทและสร้างรากฐานให้แก่บริษัทในการขยายพอร์ตรับงานภาคเอกชน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภาพรวมรายได้ของปี 2564 จะยังคงรักษาระดับไว้ได้ไม่น้อยกว่ารายได้ของปี 2563