ภัยไซเบอร์ทั่วโลกพุ่งกระฉูด! ครึ่งปี SMS ปลอมเพิ่ม 700% องค์กรเล็ก ใหญ่ บุคคลเสี่ยงเหมือนกัน ธนาคารกสิกรไทยร่วมรณรงค์ผ่านแคมเปญ #ใช้สติป้องกันสตางค์ รู้ทันภัย 4 กลโกงที่พบมากที่สุด เอสเอ็มเอสปลอม อีเมลแปลก แชตเก๊ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชวนหน่วยงานรัฐ-เอกชน ประชาชน ร่วมปกป้องและรู้ทันภัยไซเบอร์ ให้นำเนื้อหาและคลิปไปเผยแพร่ในนามองค์กรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมฟรี
จากรายงานของ Proofpoint พบว่าการเกิด SMS Phishing (SMS ปลอม) มากขึ้นถึง 700% เมื่อเทียบครึ่งปีแรกปีนี้กับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 โดยช่องทางที่ใช้ในการส่งฟิชชิง 96% มาจากอีเมล ซึ่ง Cybersecurity Ventures ประมาณการว่าภัยไซเบอร์จะสร้างความเสียหายทั่วโลกกว่า 196 ล้านล้านบาท ภายในปี 2564 และคาดว่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้น 15% ทุกปี และจะถึง 343 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568
นายพิพิธ กล่าวว่า ภัยไซเบอร์ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินกิจการที่รุนแรงขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ กับองค์กรทั้งขนาดเล็ก ใหญ่ และบุคคล ซึ่งจะมีความเสี่ยงเหมือนกัน ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องใช้งบประมาณและบุคลากรจำนวนมากเพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยให้กับระบบไอที อย่างไรก็ตามหนึ่งในแนวทางในการป้องกันภัยไซเบอร์ที่ดีที่สุดก็คือ การให้ความรู้และความร่วมมือจากพนักงานทุกคน ทุกระดับ เพราะความผิดพลาดหรือพลั้งเผลอของพนักงานเพียงครั้งเดียวอาจเป็นช่องทางให้คนร้ายเจาะเข้าระบบขององค์กรจนสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ ลูกค้า และบุคคลทั่วไปได้
ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย จึงได้รณรงค์ผ่านแคมเปญ “#ใช้สติป้องกันสตางค์” เพื่อให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่พนักงานและลูกค้า ให้มีสติก่อนทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเฉพาะในระยะนี้ที่จะมีภัยใน 4 รูปแบบ คือ
- ส่ง SMS แปลกๆ แอบอ้างเป็นองค์กรต่าง ๆ ส่งข้อความ เช่น “คุณได้รับเงินกู้”, “คุณได้รับสิทธิ์เติมเงินฟรี”, “คุณได้รับอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” เมื่อกดลิงก์เข้าไปจะหลอกให้กรอกข้อมูลสำคัญ ไปเข้าระบบการเงินออนไลน์และโอนเงินออกจากบัญชี หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อเพื่อสวมตัวตนสมัครใช้บริการทางการเงิน
- ส่งอีเมลปลอม โดยฝังมัลแวร์ (โปรแกรมมุ่งร้าย) ไว้ในเอกสารแนบของอีเมล เมื่อคลิกลิงก์หรือกดไฟล์แนบอาจทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ หรือถูกล้วงข้อมูลสำคัญ รวมทั้งเป็นช่องทางการเจาะเข้าสู่ระบบไอทีขององค์กรได้
- แชตปลอมบนโซเชียลมีเดีย โดยส่งข้อความทักแชต หลอกให้โอนเงิน หรือปลอมแปลง สลิปโอนเงินในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ แอบอ้าง แล้วไปหลอกลวงคนอื่นต่อ
- แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเหยื่อทางโทรศัพท์ สร้างสถานการณ์ให้ตื่นตระหนก หรือหลอกล่อ ด้วยเงินรางวัลต่าง ๆ