นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนางวชิรญา เพิ่มภูศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Best of the Best โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ระดับประเทศ ประจำปี 2563-2564 ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารออมสินร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์และบริการแก่กลุ่มชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างโอกาสทางการตลาดและการแข่งขัน ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
โดยการศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ทั้งการจัดการทรัพยากร ผลิตภัณฑ์และตราสินค้า การปรับปรุงการพัฒนากระบวนการผลิต การเงินจัดทำบัญชี ราคา ความสามารถในการทำกำไร การตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งถือเป็นทำประโยชน์ให้กับชุมชนและร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยการร่วมเรียน ร่วมรู้และร่วมทำ โดยมีคณะผู้บริหารธนาคารออมสิน ผู้แทนจาก กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ธปท. สคร. วว. กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมเพื่อนชุมชน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมงาน ในรูปแบบการถ่ายทอดสดผ่านทางระบบ ZOOM และ Facebook Live เพจออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564
สำหรับรางวัล Best of the Best โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ระดับประเทศ ประจำปี 2563-2564 ประกอบด้วย 6 ประเภท 7 ทีม ได้แก่ (1) ประเภทกินดี ทีม Zab-za Cricket ผลิตภัณฑ์นำพริกนรกจิ้งหรีด มรภ.พิบูลสงคราม (2) ประเภทอยู่ดี ทีมตะกร้า 3 ใบ บริการท่องเที่ยว ชุมชนและโฮมสเตย์ มรภ.บุรีรัมย์ (3) ประเภทสวยดี Less Plastics ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผักตบชวา มรภ.เชียงราย (4) ประเภทใช้ดี ทีม Fantastic coconut oil ผลิตภัณฑ์ Aromatic Hair Spray ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง (5) ประเภทรักษ์ดี ทีม Siamese Betta ผลิตภัณฑ์ปลากัดไทย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ (6) ประเภทคิดดี ทีม MAI ผลิตภัณฑ์พรมเช็ดเท้าเพื่อสุขภาพ มรภ.พระนคร และทีมสิงห์สะอาดโมเดล ผลิตภัณฑ์กี่ทอผ้าพกพา ม.กาฬสินธุ์
ทั้งนี้ โครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้บทบาท “ธนาคารเพื่อสังคม” ของธนาคารออมสิน ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีเป้าหมายที่จะขยายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาเป็น 66 แห่ง และร่วมกันพัฒนา 330 กลุ่มชุมชน ที่ยังคงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก การสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มชุมชนที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษามาพัฒนายกระดับคุณภาพภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นให้มีศักยภาพต่อไป