BJC เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2564 กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคกำลังเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง
“บีเจซี” เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่สาม ปี 2564 มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 367 ล้านบาท โดยสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และ สินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค เป็นผู้นำในการเติบโตอย่างเด่นชัด
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 3/64 เท่ากับ 36,922 ล้านบาท ลดลง 1,317 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงของยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มเวชภัณฑ์และเทคนิค สามารถสร้างการเติบโตของยอดขายอย่างแข็งแกร่ง ในส่วนของรายได้อื่นเท่ากับ 2,389 ล้านบาท ลดลง 790 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้ค่าเช่าในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากการยกเว้นค่าเช่าและส่วนลดค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้เช่าใน 29 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ที่จำเป็นต้องปิดร้านค้าในบางช่วงระหว่างไตรมาส
สำหรับรายได้รวมงวดเก้าเดือนของปี 2564 เท่ากับ 109,640 ล้านบาท ลดลง 9,470 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.0 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมงวดเก้าเดือนของปีที่แล้ว เนื่องจากการลดลงของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทงวดเก้าเดือน เท่ากับ 2,202 ล้านบาท ลดลง 446 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.8 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเก้าเดือนของปีก่อน
ทั้งนี้ปัจจัยบวกผลประกอบการไตรมาส 3/64 โดดเด่นมาจากสองกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคและกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค สำหรับกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ มียอดขายในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 2,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 656 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 นอกจากการเติบโตที่ดีของทั้งกลุ่มยาและเครื่องมือแพทย์แล้ว สินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ยังมีความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับสินค้าและบริการทางเทคนิค มียอดขายที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจเคมีภัณฑ์และกราฟิก แม้จะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 อยู่บ้าง แต่ยังสามารถสร้าง
การเติบโตของยอดขายได้ในไตรมาสที่ 3 นี้
ในกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค รายงานยอดขายในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 5,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 812 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอุปโภคที่ได้ดำเนินการกระจายสินค้าให้ยูนิชาร์มไปยังช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิม และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศที่ได้ประโยชน์จากการกักตุนสินค้าของผู้บริโภคในเวียดนาม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น
ในขณะที่กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ ยอดขายในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 4,504 ล้านบาท ลดลง 439 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลกระทบมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในไทยและเวียดนามที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ สามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต นอกจากนี้ด้วยกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้า การเพิ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่และขนาดใหม่ที่บริษัทฯ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องได้มีส่วนช่วยลดความผันผวนที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้
ในกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ มีรายได้รวมของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 25,145 ล้านบาท ลดลง 1,879 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากอัตราการเติบโตของยอดขายต่อสาขาเดิมที่ลดลง อยู่ที่ร้อยละ -6.6 ในไตรมาส 3/64 (ยอดขายต่อสาขาเดิม เมื่อไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบีอยู่ที่ร้อยละ -8.1 ในไตรมาส 3/64) เนื่องจากผลกระทบของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องมีการปิดพื้นที่ขายสินค้าไม่จำเป็นบางส่วนใน 29 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ขณะเดียวกันในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นนี้ ยอดขายจากธุรกิจออนไลน์และบริการ Call Chat Shop เติบโตขึ้นอย่างมาก รวมถึงยอดขายสินค้าอาหารสดที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากความนิยมในการทำอาหารที่บ้านของผู้บริโภค นอกจากนี้ ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นกลุ่มสินค้าขายดีที่บริษัทฯได้ดำเนินการมา ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายและความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อ มินิ บิ๊กซี ด้วย
สำหรับรายได้ค่าเช่าและค่าบริการสถานที่ ได้รับผลกระทบจาก 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสีแดงเข้ม อย่างชัดเจน กระทบต่อรายได้ค่าเช่า โดยผู้เช่าส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ปิดร้าน เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้เช่า บริษัทจึงมีนโยบายยกเว้นค่าเช่าให้กับผู้เช่าที่ถูกบังคับให้ปิดร้านค้า และเสนอส่วนลดที่สูงขึ้นให้กับผู้เช่าที่ยังคงเปิดอยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ภายหลังเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 รัฐบาลจึงเริ่มยกเลิกข้อจำกัดในต้นเดือนกันยายน ส่งผลให้ยอดค้าปลีกและรายได้ค่าเช่าปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากการเปิดพื้นที่ขายสินค้าไม่จำเป็นและทั้งทางผู้เช่าที่เริ่มกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติอีกครั้ง
กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เดินหน้าพัฒนาธุรกิจอย่างมุ่งมั่นและยั่งยืน เตรียมพร้อมเสมอในทุกสถานการณ์ เพื่อเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง และสามารถรับมือวิกฤตได้อย่างทันท่วงทีในทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาสินค้าใหม่ การขยายฐานลูกค้า และการพัฒนาช่องทางการขายให้เชื่อมโยงทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน สามารถเข้าถึงและดูแลลูกค้าทุกท่านอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วที่สุด ตามนโยบาย “ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า”