หลังจากจัดค่ายสนับสนุนความสามารถเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ดูเหมือนว่า การนำเสนอผลงาน (Pitching) ของน้องๆ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช.ในค่าย Creative AI Camp จัดโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ และพันธมิตรจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการแบ่งกลุ่มเยาวชนเป็น 2 สายเป็นปีแรก ได้แก่ สาย Business AI ติวองค์ความรู้เชิงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ AI และสาย Technical AI ติวทักษะเชิงลึกด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้ไอเดียและผลงานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของน้องๆ ทั้ง 10 กลุ่มในปีนี้ ทั้ง “ว้าว” ทั้ง “ปัง” นำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจและสังคมได้จริง
สำหรับสุดยอดผลงานที่โดนใจคณะกรรมการนานาชาติทั้งไทย สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน ขับเคี่ยวเอาชนะผลงานอื่นๆ ไปได้ ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กับผลงาน 7-ALL-IN-ONE นำเสนอแนวทางการสร้าง Virtual Store ในโลก Metaverse สร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ซื้อ รองชนะเลิศอันดับ 1 กับการพัฒนาระบบ Shelf Checking Detective ใช้กล้อง AI CCTV ตรวจจับวัตถุ (Object Detection) ตรวจสอบสินค้าในร้านค้าที่วางไม่ถูกชั้น ลดปัญหาการสูญเสียโอกาสของเจ้าของสินค้า พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในการเช็คสต๊อกและเติมสต๊อกสินค้า และผลงานทีมชนะเลิศ กับไอเดีย ALL ONLINE RECOMMENDATION SYSTEM (ARS) ใช้ AI ช่วยคัดเลือกและแสดงสินค้า (Personalize) ให้เหมาะกับความต้องการของบุคคล
“จริงๆ ผมไม่ได้มีพื้นฐานด้านการเขียนโค้ด เป็นแค่คนธรรมดาที่ชอบการทำโปรเจ็คท์และ Pitching การได้มาร่วมลงมือปฏิบัติจริง ทำโปรเจ็คท์ในค่ายนี้ โดยมีพี่ๆ ที่มีประสบการณ์การทำงานจริง มีโจทย์ปัญหาจริงจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้ผมไม่ต้องงมเข็มในมหาสมุทร มีโอกาสเรียนรู้และเติบโตอย่างก้าวกระโดด เปิดโลกให้เห็นว่า AI สามารถเข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงทุกอย่างและเปลี่ยนแปลงทุกสาขาอาชีพในอนาคต” น้องเติม ย้ำ
น้องจิมมี่-สมัชญ์ วัฒนพรมงคล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สมาชิกทีม ARS และสมาชิกค่ายสาย Technical AI เล่าว่า ที่ผ่านมา เขาและเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ร่วมกันค้นคว้าวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ AI อยู่แล้ว ประกอบกับตัวเขาเองมีความใฝ่ฝันอยากเรียนต่อด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เพื่อไปประกอบอาชีพ Developer ด้วย จึงตัดสินใจสมัครเข้ามาร่วมค่ายนี้ในสาย Technical AI สิ่งที่ทำให้ประทับใจมาก คือการได้เรียนรู้และลงมือพัฒนาโปรเจ็คจริงๆ ขึ้นมา ซึ่งอาจไม่มีโอกาสได้ทำที่โรงเรียน ขณะเดียวกัน ก็ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้การนำ AI มาประยุกต์ใช้กับฝั่ง Business ด้วย
ด้านนายป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไอเดียและผลงาน AI ของเยาวชนทั้ง 10 กลุ่มในปีนี้ ถือเป็นการสร้างสรรค์แนวทางการแก้ปัญหา (Solution) ที่ตอบโจทย์ Digitization สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่กำลังอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้อย่างน่าสนใจ หลายๆ ผลงานที่ออกมา ได้รับการติดต่อจากสปอนเซอร์เพื่อขอนำไปต่อยอดใช้จริง โดยน้องๆ ที่เป็นเจ้าของความคิดดังกล่าว จะมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา และผู้ร่วมพัฒนาในโครงการดังกล่าวต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดประสบการณ์การนำไปใช้จริง
“สิ่งที่ซีพี ออลล์และกลุ่มผู้ร่วมจัดงานทั้งวิทยากร และ Maker/Mentor ภูมิใจที่สุด คือ ด้วยเวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ ค่ายของเรามีส่วนช่วยทรานส์ฟอร์มเยาวชนจากที่เป็นแค่คนสนใจ AI ให้กลายเป็นคนที่ทำ AI ได้ จนเกิดเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม วันนี้เราพิสูจน์แล้วว่าเด็กไทยที่มีศักยภาพมีอยู่จำนวนมาก เช่น สมาชิกค่ายปีนี้ที่มีทั้งทักษะ ความทุ่มเท ความสามารถในการปรับตัว ความสามารถในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้กลายเป็นกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตอย่างแข็งแกร่งต่อไป” นายป๋วย ย้ำ
ทั้งนี้ น้องๆ สมาชิกค่าย Creative AI Camp ทุกคน จะได้รับสิทธิ์การเป็นสมาชิก Creative AI Club โดยอัตโนมัติ ได้รับสิทธิเข้าร่วม Workshop ด้านเทคโนโลยีที่ทาง Club จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากซีพี ออลล์ หากน้องๆ จะเข้าร่วมแข่งขันแฮคกาธอนหรือเวทีอื่นๆ ด้านเทคโนโลยีต่อไป ขณะเดียวกัน ซีพี ออลล์อยู่ระหว่างพิจารณาการขยายขอบเขตการสนับสนุนเยาวชนกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อไปด้วย
สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้นภายใต้ปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนกลายเป็น “คนพันธุ์ AI หัวใจโกะ” (CreativeAIness) วิถีความเป็นมนุษย์ AI สร้างสรรค์ สามารถสร้างสรรค์ AI ผสมผสานปรัชญาหมากล้อม เพื่อประโยชน์ของสังคม และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต โดยการจัดงานในปีที่ 4 นี้ มีพันธมิตรและวิทยากรมากกว่า 20 ราย อาทิ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM), ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากบริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, SUNPLEX GROUP, Ambient Group, Data Scientist จากบริษัท AI ชั้นนำในญี่ปุ่น, Amazon Web Service (AWS) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มคลาวด์และให้บริการระบบคลาวด์ระดับโลก และ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับงานบริการและอุตสาหกรรมแบบครบวงจร