“ดีป้า” เปิดแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2565 เพื่ออนาคตของคนไทย และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก

ดีป้า เผยแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2565 พร้อมเดินหน้าในทุกพันธกิจ ดันบัญชีบริการดิจิทัล หนุนรัฐ-เอกชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้โดยสะดวก เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ ลุยจัดทำระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองใน 15 เมืองอัจฉริยะแรกที่ได้รับการประกาศแล้ว ก่อนยกจังหวัดที่มีความพร้อมนำข้อมูลเมืองแปลงสู่ระบบบริการของพื้นที่ พร้อมปั้นเพิ่ม 150 Smart City Ambassadors สร้างความเข้าใจในเรื่องของนโยบาย รวมถึงดิจิทัลโซลูชันให้กับหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่น เล็งเปิดคอนเซ็ปต์ร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล ในชื่อ d-station นำร่อง 8 จังหวัด สร้างงานคนในพื้นที่ควบคู่การให้ความรู้ประชาชนที่สนใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่เมืองรองให้สามารถเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ ก่อนประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจของตนเอง

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2565 ในทุกพันธกิจ เริ่มจากการเดินหน้าในเรื่องของ “บัญชีบริการดิจิทัล” โดยให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการ (Software as a Service: SaaS) ที่ได้มาตรฐานตามที่ ดีป้า กำหนด อาทิ ISO29110, CMMI และ dSURE สามารถขึ้นทะเบียนในบัญชีบริการดิจิทัลเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเลือกประยุกต์ใช้บริการเหล่านั้นได้โดยสมัครใจผ่านกระบวนการพัสดุ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้ พร้อมกันนี้ บัญชีบริการดิจิทัลยังให้บริการภาคเอกชน และสามารถนำใบเสร็จมายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเลือกซื้อเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม TECHHUNT บน LINE Official Account: depaThailand อีกหนึ่งช่องทางในการค้นหาโซลูชัน เพื่อยกระดับธุรกิจ แก้ไข Pain Point ได้อย่างสะดวกและตรงจุด

“ดีป้า คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลขึ้นทะเบียนในบัญชีบริการดิจิทัล เพิ่มเฉลี่ย 500 รายการในปี 2565 พร้อมตั้งเป้าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ บัญชีบริการดิจิทัลผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาฯ ต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (NBDi) ส่งเสริมการสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานระดับสากลและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่และระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสานให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไปสู่การใช้ประโยชน์ของข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บริการให้คำปรึกษาทางวิชาการด้านข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านข้อมูลขนาดใหญ่เป็นกลไกในการออกแบบพัฒนานโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า กำลังบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอผลการดำเนินงานแก่คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ดร.ณัฐพล ได้กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ว่า ดีป้า จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City Data Platform) ใน 15 เมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ โดยการออกแบบจัดทำ Data Catalog ของจังหวัด การจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูล และหยิบยกจังหวัดที่มีความพร้อมเพื่อนำข้อมูลเมืองมาแปลงสู่ระบบบริการของพื้นที่ อาทิ การติดต่อสื่อสารสู่ภาคประชาชน เช่น การเตือนภัย เหตุด่วน เหตุร้าย เหตุอาชญากรรม ฯลฯ

ทั้งนี้ ดีป้า ยังมีแผนที่จะขยายผลโครงการ Smart City Ambassador โดยเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่เพิ่มเติม 150 คน ใน 150 พื้นที่จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ (ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้) เพื่อเป็นที่ปรึกษาของพื้นที่ ช่วยสร้างความเข้าใจในเรื่องนโยบายและดิจิทัลโซลูชันให้กับหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่น ขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ดีป้า จะเดินหน้าประกาศรับรองพื้นที่เมืองอัจฉริยะเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 10 พื้นที่ในปี 2565

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า จะเข้าไปสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการลงทุนจากบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรของ ดีป้า ในลักษณะของการร่วมลงทุน (Co-investment) ภายใต้โครงการ dVenture โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

“และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้อย่างเข้าใจ ดีป้า วางแผนที่จะเปิด “ร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล” ในชื่อ d-station เริ่มต้นใน 8 จังหวัดนำร่อง โดยการสรรหาคนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า ซึ่งจะสามารถเข้าถึงประชาชนที่สนใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่เมืองรองให้สามารถเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจของตนเอง ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยให้เกิดอาชีพใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

และสุดท้ายคือ การร่วมมือกับ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม National Delivery เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ในชื่อ eatsHUB ด้วยอัตราส่วนแบ่งรายได้ (GP) เฉลี่ยต่ำสุด 8% เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มรับส่งอาหารสัญชาติไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการร้าน สามารถสร้างฐานข้อมูลลูกค้าเป็นของตนเอง และช่วยสร้างอาชีพให้ผู้ว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ eatsHUB ได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จ มีร้านค้าร่วมเป็นสมาชิกกับแพลตฟอร์มแล้วกว่า 8,000 ร้านค้า และพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม และพระนครศรีอยุธยา ช่วงเดือนมกราคม 2565

“เราพร้อมทำงานเพื่ออนาคตของคนไทย และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก ตามวิสัยทัศน์ We work smart every day to build a world-class digital economy and to help people perform better, think faster and live better” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย