ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากการคว่ำบาตรระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 และอาจจะลุกลามไปสู่การคว่ำบาตรเรื่องพลังงาน ทั้งแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การผลิตน้ำมันไม่เพียงพ่อต่อความต้องการน้ำมันได้ อีกทั้งมีการชะลอการผลิตลงจากหลากหลายส่วน ทำให้ทิศทางราคาพลังงานมีแนวโน้มขยับขึ้น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล มีโอกาสจะขยับไปถึง 120 เหรียญต่อบาร์เรล และมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นไปได้อีก
ทางสำนักวิจัยได้ใช้แบบจำลองจาก Oxford Economics (ภาพประกอบ) เปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจ (GDP) ในแต่ละประเทศ บนสมมติฐาน กรณีราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปี ขยับขึ้น 50 เหรียญต่อบาร์เรล จากสมมติฐาน 100 เหรียญต่อบาร์เรล ไปที่ 150 เหรียญต่อบาร์เรล จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง GDP อย่างไรเมื่อเทียบกับกรณีฐาน
ประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันสูงขึ้น คือ รัสเซีย และประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ขณะที่ประเทศที่ใช้น้ำมันมากๆ อาทิ ไทย อินเดีย ประเทศในอาเซียน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ จะมีเศรษฐกิจที่ชะลอกว่าคาด นั่นคือ ชะลอกว่ากรณีฐานที่ราคาน้ำมัน 100 เหรียญต่อบาร์เรล แปลว่า ถ้าราคาน้ำมัน 150 เหรียญต่อบาร์เรล เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ เพียงแต่จะขยายตัวช้าลงกว่ากรณีฐาน เช่น ไทย อาจจะชะลอได้ 0.3% จากกรณีฐาน
ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซีย และประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูง จะไม่เร่งรีบเจรจา หรือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน จนทำให้ราคาน้ำมันย่อลงในทันที ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบ คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าราคาน้ำมันที่คาดกันว่าจะอยู่ระดับที่สูงเกิน 120 เหรียญต่อบาร์เรล จะทะยานขึ้นไปแตะระดับ 150 เหรียญต่อบาร์เรล หรือไม่ โดยคาดว่าจุดพีคจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2
“สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจที่ชะลอลง มาจากราคาน้ำมันที่สูง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูง รวมทั้งเงินเฟ้อของไทยก็มีความเสี่ยงจะสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้มีโอกาสที่ขึ้นไประดับ 4-5% และมีโอกาสที่เงินเฟ้อของไทยจะทะลุ 5% ได้ จากราคาพลังงาน และราคาอาหารสด ในช่วงไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ดี กรณีราคาน้ำมันพุ่งสูงเกิน 150 เหรียญต่อบาร์เรล คงเป็นสถานการณ์ชั่วคราวในไตรมาส 2 หลังจากนั้น ราคาน้ำมันน่าจะย่อลง จากการที่คนเริ่มหาพลังงานทางเลือกมากขึ้น แม้ GDP ของไทย ยังขยายตัวในระดับสูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา แต่มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้” ดร. อมรเทพ กล่าว