บีโอไอ เผยผลความสำเร็จ การจัดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ครั้งแรกในประเทศไทย มีผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ สนใจลงทุนสตาร์ทอัพไทย โดยบีโอไอและหน่วยงานพันธมิตรผนึกกำลังสนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ณ ศูนย์ C asean จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วม 20 หน่วยงาน ที่เข้าร่วมสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ
“ประเทศไทยต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมที่เรามีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเกษตร อาหาร การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวและยานยนต์ ควบคู่กับการสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยา ดิจิทัล โดยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนการเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดของภูมิภาค เพื่อพลิกโฉมไทย สู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับศักยภาพของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Startup ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านบุคลากรที่มีศักยภาพ และการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
“บีโอไอพร้อมให้การส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในกลุ่ม BCG ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้การส่งเสริมเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงต่อไป ผ่านมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ. นี้ บีโอไอรับผิดชอบอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 โดยตั้งเป้าหมายจะใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดฯ สนับสนุนสตาร์ทอัพ จำนวน 30 ราย ในปี 2565” นางสาวดวงใจกล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนสตาร์ทอัพของบีโอไอ มีดังนี้ (1) ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาไม่เกิน 5 ปี (2) ดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด (3) ต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานอื่นมาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และ (4) ต้องเสนอแผนงาน โดยเฉพาะด้านบุคลากร ซึ่งบีโอไอจะสนับสนุนเงินเป็นค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการบริหาร ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50
NIA ได้ตั้งเป้าให้เกิด Deep Tech Startup ขึ้นภายในประเทศไทย 100 ราย ภายในปี 2566 โดยในกลุ่ม BCG จะเน้นผลักดัน 3 ด้าน ได้แก่ เกษตร (Agtech) อาหาร (Foodtech) และ การแพทย์ (Medtech) เนื่องจากเป็นสาขาที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น สามารถดึงดูดการลงทุนทางนวัตกรรมในระดับนานาชาติเป็นอย่างดี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และมีคาดการณ์ว่าสาขาเศรษฐกิจนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า”
ภายในงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ในครั้งนี้ ได้รวบรวมมาตรการและการสนับสนุนต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชนไว้ในที่แห่งเดียว ในลักษณะเหมือน One-Stop Shop โดยมีการจัดเสวนา Startup Talk “ปลุกพลัง Startup ไทย ก้าวไกลสู่ยูนิคอร์น” ซึ่งมี Startup ระดับยูนิคอร์นมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ได้แก่ Ajaib, Flash Express, Bitkub Group และ Ascend Money กิจกรรม BCG Startup Pitching และกิจกรรมสร้างเครือข่ายพันธมิตร รวมทั้งการออกบูธของพันธมิตรจากภาครัฐ เอกชน และ Startup