ทีเส็บ ชูงาน MICE Day 2022 สร้างการรับรู้บทบาทอุตสาหกรรมไมซ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการผลักดันไมซ์สู่วาระแห่งชาติ พร้อมเปิดตัวแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับสื่อสารตลาดต่างประเทศ “THAILAND MICE: Meet the Magic” และประกาศปีแห่งการจัดประชุม “MICE to Meet You in Thailand Year 2023” เดินหน้าชูมิติใหม่อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ตอบสนองความต้องการของโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล-นิวนอร์มัล
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 26 เมษายนของทุกปี เป็นวันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ (MICE Day) เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทีเส็บจึงได้จัดงาน MICE Day 2022: ไมซ์ไทย ก้าวสู่วันอันยิ่งใหญ่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวปาฐกถาแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ และมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติ (Convention Ambassador) ณ ทรูไอคอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้นอกจากจะเป็นการตอกย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ยังมุ่งให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการผลักดันไมซ์ให้เป็นวาระแห่งชาติ เปิดตัวแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับตลาดต่างประเทศในมิติใหม่ภายใต้แนวคิด “THAILAND MICE: Meet the Magic” พร้อมประกาศปีแห่งการจัดประชุม “MICE to Meet You in Thailand Year 2023” ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติด้านต่างประเทศประจำปี 2565 ตามแนวทางของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติผ่านเรื่องสื่อสารสำคัญด้านต่างประเทศ ภายใต้แนวคิดหลัก New Chapter of Thailand ก้าวใหม่ไทยในช่วงหลังโควิด มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยและชาวต่างประเทศต่อการต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพ APEC ในปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยและอุตสาหกรรมไมซ์
โดยจะนำเสนอผ่านแคมเปญโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เน้นศักยภาพประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ระดับโลก ที่มีเอกลักษณ์ทั้งด้าน Soft Power หรือศักยภาพทางวัฒนธรรม เช่น อาหาร วัฒนธรรม การบริการ ศิลปะ สินค้าไทย ฯลฯ และ Hard Power หรือศักยภาพของความเจริญด้านเศรษฐกิจ เช่น ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยี มาตรการสุขอนามัย สถานที่จัดงาน ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยนั้นอุดมไปด้วยองค์ประกอบที่แตกต่าง แต่สามารถผสานอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ขับเคลื่อนประเทศไทยให้โดดเด่นในสายตานานาชาติ
ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า “ทีเส็บ ยังเดินหน้าเชิงรุกประกาศไมซ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านแคมเปญ “MICE to Meet You in Thailand Year 2023” ประกาศปีแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการในประเทศไทย สอดรับการจัดงานใหญ่ APEC 2022 ปลายปีนี้ เพื่อเป็นกลไกดึงงาน สร้างเงิน กระตุ้นนักเดินทางจากทั้งในและต่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่พื้นที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เจาะตลาดคุณภาพ โดยเน้นงานที่ตอบโจทย์ BCG Economy Model ของรัฐบาล ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ กลยุทธ์ที่ 1 : สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระตุ้นให้หน่วยงานรัฐดึงงานจากต่างประเทศ และร่วมมือกับเอกชนดึงงานประชุมรูปแบบ Annual Global Conference งานประจำปีของแต่ละบริษัทให้เข้ามาจัดในประเทศไทย กลยุทธ์ที่ 2 : สร้างเงินหมุนเวียนกระจายรายได้ทั่วภูมิภาค เสนอเพิ่มการจัดงานไมซ์ในระดับภูมิภาค และกําหนดให้เป็นภารกิจของจังหวัด ยกระดับงานไมซ์ และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ตั้ง กลยุทธ์ที่ 3 : ยกระดับและพัฒนาปัจจัยสนับสนุน โดยยกระดับการให้บริการแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในทุกมิติ เช่น ให้ข้อมูลเชิงลึกและอํานวยความสะดวกสําหรับการประกอบธุรกิจไมซ์ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ประกอบการไมซ์ปรับปรุงสถานที่ พัฒนาการให้บริการ และบูรณาการการส่งเสริมการตลาดในระดับนานาชาติ โดยดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย
- ก้าวใหม่ระดับโลก ดึงงานใหญ่เข้าสู่ประเทศ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเวนต์ระดับโลกร่วมกับกระทรวงและจังหวัด อาทิ เอ็กซ์โป 2028 – ภูเก็ต ประเทศไทย (EXPO 2028 Phuket, Thailand) งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2026 และที่นครราชสีมา 2029 การประมูลสิทธิ์งานที่มีศักยภาพสูงโดยเฉพาะงานระดับโลก การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีของสมาคม และโครงการ One Ministry, One Convention การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการประมูลสิทธิ์งานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้เข้ามาจัดในประเทศไทย โดยมีงานเป้าหมาย อาทิ Annual Meetings of the World Bank Group and the International Monetary Fund 2025 ร่วมกับ กระทรวงการคลัง World Water Forum 2027 ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ World Energy Congress 2028 ร่วมกับกระทรวงพลังงาน
- ก้าวแกร่งทั่วภูมิภาค ยกระดับงานสู่มาตรฐานสากล ดำเนินงานผ่านโครงการความร่วมมือ อาทิ โครงการงานแสดงสินค้าในประเทศ หรือ Empower Thailand Exhibition (EMTEX) โครงการประชุมส่งเสริมศักยภาพการเติบโตด้านการค้า-การลงทุนแนวระเบียงเศรษฐกิจ สนับสนุนการจัดการไมซ์ตามภูมิภาค และโครงการยกระดับ Flagship Event ขึ้นสู่ Global Ranking เช่น งานแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี งานไหมนานาชาติ ขอนแก่น รวมถึงพัฒนางานภายในท้องถิ่น (Homegrown) ทั่วประเทศ เพื่อสร้างมรดกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- ก้าวข้ามอุปสรรคด้วยศักยภาพไมซ์ไทยทุกมิติ พัฒนาบุคลากรและมาตรฐานการให้บริการ มุ่งพัฒนาบุคลากรไมซ์สร้างคนคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งระดับพื้นที่และระดับนานาชาติ อาทิ การจัดทํามาตรฐาน ISO รับรองคุณวุฒิวิชาชีพไมซ์ใน 5 กลุ่มสาขาวิชาชีพ รวมถึงส่งเสริมการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มตามแนวทางนิวนอร์มัล และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี อำนวยความสะดวกอย่างครบวงจรให้กับนักเดินทางไมซ์ เช่น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ (Thailand MICE One Stop Service) ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มผ่านช่องทาง www.thaimiceoss.com พร้อมมุ่งเน้นการรณรงค์การบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศ
- ก้าวไกลด้วยแบรนด์ไมซ์ไทยในเวทีโลก มุ่งเน้นการบูรณาการการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในและต่างประเทศผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ในยุคดิจิทัล-นิวนอร์มัล ส่งเสริมตัวแทนการตลาดทั้ง 7 ประเทศในการเป็นด่านหน้าที่จะสื่อสารข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทำกิจกรรมการสื่อสารและการตลาดเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสู่ความเป็นที่หนึ่งในใจ (Top of Mind) ของนักเดินทางไมซ์ว่าประเทศไทยมีความพร้อมรองรับการจัดงานได้ทันที ตลอดจนการดําเนินงานเชิงรุกผ่านแคมเปญการตลาดและการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้นักเดินทางไมซ์ต่างชาติเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายของการทํากิจกรรมไมซ์
นอกจากนี้ ทีเส็บร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการจัดประชุม ร่วมจัดนิทรรศการ “ภูมิไทยเส้นทางทรงคุณค่าของอุตสาหกรรมไมซ์” เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องจุดกำเนิดของไมซ์ไทย สร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในอุตสาหกรรมไมซ์ไทย โดยสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร