ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 มีมติแต่งตั้ง “ปริญญา พัฒนภักดี” นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด SAM คนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 พร้อมได้มอบนโยบายให้ SAM เป็นหนึ่งวงล้อฟันเฟืองที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และร่วมดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและคุณภาพธุรกิจของผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาด้านเครดิตในประเทศให้ฟื้นกลับมาอยู่รอด อยู่ได้ เติบโตและยั่งยืนอย่างมีคุณภาพได้ในที่สุด
นายปริญญา พัฒนภักดี ปัจจุบันอายุ 63 ปี มีประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งสำคัญระดับประเทศมากมาย ทั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประธานกรรมการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท เอสโฮเทลแอนด์รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการ บริษัท รักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด รองประธานกรรมการ บริษัท กรุงไทยกฎหมาย จำกัด เลขานุการบริษัท เลขานุการคณะกรรมการธนาคาร เลขานุการคณะกรรมการบริหาร เลขานุการคณะกรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับด้านการศึกษา สำเร็จการศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปริญญาโทบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาตรีนิติศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากนี้ยังผ่านการอบรมหลักสูตรชั้นนำอีกมากมาย
นายปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา SAM ได้ดูแลและให้การช่วยเหลือลูกค้าผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในภาคธุรกิจและประชาชน ให้สามารถกลับไปดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตได้ตามปกติมาแล้วกว่า 54,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 333,500 ล้านบาท รวมถึงยังช่วยส่งคืนทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ทิ้งร้างกลับคืนเข้าสู่ระบบด้วยการขายให้กับนักลงทุน และประชาชนทั่วไป ให้นำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจไทยไปแล้วเป็นมูลค่ารวมกว่า 44,600 ล้านบาท นอกจากนี้ SAM ยังช่วยนำส่งเงินสดคืนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปแล้วเป็นจำนวนรวมกว่า 437,000 ล้านบาท และในช่วงเวลาที่ผ่านมา SAM ยังได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศผ่าน โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งหากนับจากการเปิดโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ถึงปัจจุบัน มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 80,000 บัญชี ทำให้วันนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ประชาชนตกอยู่ในความยากลำบากจากการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล มีทางออกในการดูแลแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อปัญหาภาระหนี้สินได้คลี่คลายก็จะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตและคุณภาพครอบครัวของประชาชนดีขึ้น อันจะส่งผลในเชิงบวกทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมได้อย่างมีคุณภาพ